ไม่พบผลการค้นหา
'สัปปายะสภาสถาน' คือชื่อเรียกอาคารรัฐสภา ที่ทำงานของบรรดาผู้ทรงเกียรติ แต่กลายเป็นว่าค่ำคืน 24 ก.ย.2563 กลายเป็นค่ำคืนหฤโหด ที่นักเลือกตั้ง ส.ส. และนักแต่งตั้ง ส.ว.ลงมติ 'หักดิบ' ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาทั้ง 6 ญัตติไปอีก 1 เดือน ค้านสายตา - ความรู้สึกมวลชน ‘ประชาชนปลดแอก’ นอกสภา

'วิรัช รัตนเศรษฐ' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ยืนยันไม่ได้ซื้อเวลาแน่นอนที่ตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อศึกษาก่อนโหวตวาระแรกของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับเพื่อหาจุดร่วมกัน ไม่กังวลว่าจะส่งผลต่ออุณหภูมิทางการเมือง มั่นใจว่าจะหาข้อยุติได้ภายใน 1 เดือนตามกรอบเวลา เมื่อพร้อมที่จะนำเข้ารัฐสภาทันที

“โดยเชื่อว่าจะใช้โอกาสนี้ในการทำความเข้าใจ ระหว่างสมาชิกวุฒิสภากับ ส.ส.ฝ่ายค้านในบางประเด็น เพราะคณะกรรมาธิการชุดนี้จะมาร่วมกันดูในส่วนที่มีความเห็นร่วมกัน หรืออะไรที่ไม่เหมือนกัน ในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอทั้ง 6 ฉบับ ปรับจูนให้ตรงกัน โดยใช้เหตุและผล”

ความหวังในการ แก้รัฐธรรมนูญ ล้างมรดก คสช. - ปิดสวิตช์ ส.ว. ยังหืดขึ้นคอ เหมือนเช่นครั้งก่อนๆ

พลังประชารัฐ รัฐสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ 38031495_200924_18.jpg

เพราะก่อนหน้านี้ การแก้ไข “รัฐธรรมนูญมรดกทหาร” ที่คลอดหลังการรัฐประหารไม่ใช่ของง่าย มักถูกขัดขวางจากกองกำลังทางการเมืองทั้งในสภา - นอกสภา ในระบบ นอกระบบ โดยเกิดขึ้น 3 ครั้ง กับรัฐธรรมนูญ 2550

ถ้านับการ “ยื้อ” ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการ รอบนี้ก็เป็นครั้งที่ 4 แต่เกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญ 2560

ความพยายามล้างมรดกคณะรัฐประหารครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในยุคพรรคพลังประชาชน (พปช.) ได้เป็นรัฐบาลหลังชนะการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550

3 เดือนแรกของการเป็นรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ได้คิกออฟแก้ไขมาตรา 309 อันเป็นมาตราที่รองรับรองการกระทำของ คมช. ทั้งก่อน - หลัง รัฐธรรมนูญประกาศใช้ให้ชอบด้วยกฎหมาย โดย ส.ส. และ ส.ว.สายเลือกตั้ง 164 คน ยื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 21 พ.ค.2551 

ขอแก้ไขมาตรา 237 อันเป็นโทษของการยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกลุ่มบ้านเลขที่ 111 ไทยรักไทย และมาตรา 309 

ผลที่ตามมา คือ การนัดชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 29 พ.ค.2551 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่า พปช. ต้องการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมคดีต่างๆ ให้อดีตนายกรัฐมนตรี 'ทักษิณ ชินวัตร'

สนธิ พันธมิตรประชาชน ลิ้มทองกุล _Hkg138693.jpg

เป็นจุดเริ่มต้นของการชุมนุมยืดเยื้อ 193 วัน แม้ พปช.จะถอยร่นเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้จุดประเด็นต่อเนื่องอีกหลายวาระ ทั้งทวงคืนปราสาทเขาพระวิหาร การเดินขบวนขับไล่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ด้วยมาตรา 237 จากเหตุ 'ยงยุทธ ติยะไพรัช' กรรมการบริหารพรรค พปช. กระทำทุจริตเลือกตั้ง 

มาถึงยุคพรรคเพื่อไทย ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ยังไม่สำเร็จ เป็นครั้งที่ 2 ขณะนั้นพรรคเพื่อไทยชงแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเพิ่มเติมกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ

แต่อีกด้านหนึ่ง ขบวนการ ส.ว.สรรหา นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม วรินทร์ เทียมจรัส แท็กทีมกับฝ่ายค้านประชาธิปัตย์ นำโดย วิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ประชาธิปัตย์ เดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายวันธงชัย ชำนาญกิจ และบวร ยสินทรและคณะ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญของเพื่อไทยขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่

ปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเมื่อ 13 ก.พ. 2555 ว่า ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติก่อนว่า สมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

“หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เป็นความเหมาะสม และเป็นอำนาจของรัฐสภา ที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291”

กลายเป็น 'คำแนะนำ' คลาสสิกที่ไม่ใช่ 'คำพิพากษา' ที่ถกเถียงกันถึงทุกวันนี้ว่าการจะแก้ไขให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะต้องทำประชามติตามคำแนะนำดังกล่าวก่อนหรือไม่

รัฐสภา ประท้วง ฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย สมศักดิ์ 00_Hkg7382696.jpg

ครั้งที่ 3 ก่อนสิ้นสุดการเป็นรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ครั้งนั้นพรรคเพื่อไทย แท็กทีมกับ ส.ว.เลือกตั้ง ซุ่มร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างลับๆ

กระทั่งวันที่ 20 มี.ค.2556 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ผนึกกำลังกับ ส.ว.เลือกตั้ง รวม 308 คน โดยเป็น ส.ส. 258 กับ ส.ว.50 คน ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราตามคำแนะนำศาลรัฐธรรมนูญ ต่อ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานรัฐสภา

มีญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา 3 ประเด็น

 1.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68

2.แก้ไขมาตราเกี่ยวกับที่มา ส.ว.โดยให้เหลือ ส.ว.จากการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว

3.แก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับการทำสนธิสัญญาที่ต้องรับการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 190

กลายเป็นว่า พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับคณะ นวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ สาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง กับคณะ และพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ อีกครั้ง

20 พ.ย.2556 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 2 ช็อต โดยช็อตแรก มีมติ 6 ต่อ 3 ว่า กระบวนการพิจารณาและลงมติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้ร้องถูกร้องทั้งหมดในคดีนี้เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เพราะร่างในขั้นรับหลักการต่างกับร่างรัฐธรรมนูญที่ยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนละฉบับกับที่สภาพิจารณาในวาระแรก มีการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน และ รวบรัดอภิปรายและนับระยะเวลาแปรญัตติย้อนหลังอันขัดข้อบังคับและไม่เป็นกลาง

ช็อตที่สองมีมติข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่า มีเนื้อความที่เป็นสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐาน และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 อันเป็นการกระทำเพื่อให้ผู้ถูกร้องได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ

ศาลรัฐธรรมนูญตุลาการ ยุบพรรค อนาคตใหม่  318163_200121_0001.jpg

ทว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มีสำเร็จเพียงครั้งเดียว ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยแก้กับระบบเลือกตั้งจาก ส.ส.สัดส่วน พวงใหญ่ เรียงเบอร์ มาเป็น ส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียว เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 

กระทั่งรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉีกรัฐธรรมนูญ 2550 ไปโดยปริยาย

ดูเหมือนการแก้รัฐธรรมนูญมรดก คสช.ไม่ใช่ของง่าย แต่ฉีกง่ายกว่า