ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้จะ “เปลี่ยนแปลงโลกาภิวัฒน์ในระดับฐานราก” และเขาคาดการณ์ว่าจะเปลี่ยนแปลงการควบคุมการเคลื่อนย้ายของคนข้ามพรมแดน และรัฐบาลจะเข้าไปแทรกแซงป้องกันการพึ่งพาประเทศอื่นๆ มากเกินไป ทั้งด้านอาหาร สินค้าทางการแพทย์ และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ เช่นที่ผ่านมา จีนเป็นทั้งคู่ค้ารายใหญ่ของอาเซียนและนักท่องเที่ยวจีนก็เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของกลุ่มอาเซียน ดังนั้น ประเทศอาเซียนควรจะสร้างความร่วมมือและไว้ใจซึ่งกันและกัน
ลีเซียนลุงได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ระหว่างการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับผู้นำประเทศกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศเกี่ยวกับเรื่องโควิด-19 ซึ่งมีเหงียนเซินฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามเป็นประธานการประชุม ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้
ลีระบุว่า “เราจะต้องฝืนความต้องการของตัวเองที่จะสนใจแต่เรื่องภายในประเทศและไม่สนใจคนอื่น (ในอาเซียน)” เพราะไม่มีประเทศใดในอาเซียนจะปลอดภัยอย่างแท้จริง หากทั้งภูมิภาคไม่ปลอดภัย การแบ่งปันข้อมูลและอัปเดตสถานการณ์กันในกลุ่มประเทศสมาชิก จะทำให้ทุกประเทศได้เรียนรู้กันและร่วมมือกันได้ เช่น การส่งคนกลับประเทศต้นทาง
ด้านกระทรวงต่างประเทศของฟิลิปปินส์ก็แสดงความเห็นว่า วิกฤตโควิด-19 ไม่เหมือนวิกฤตอื่นๆ ก่อนหน้านี้ และไม่ใหญ่ขนาดขนาดนี้ แต่หวังว่าจะหยุดยั้งการระบากได้ด้วยความร่วมมือและไว้ใจกันและกัน หากประเทศไหนฃ้มเหลว ประเทศอื่นก็จะล้มเหลวตามไปด้วย
ปัจจุบัน ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอาเซียนมีอย่างน้อย 20,000 คน แต่ตัวเลขมีแนวโน้มจะสูงขึ้น เนื่องจากความสามารถในการตรวจเชื้อยังไม่มากในบางพื้นที่ ประเทศที่ออกมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายของประชาชน ทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
เมื่อเดือนมี.ค. องค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกระดับการต่อสู้กับโรคระบาดให้มากขึ้น ในขณะที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยหลายคนที่ติดเชื้อมาจากการเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลซีย
อาเซียนควรกำหนดมาตรการควบคุมการเดินทางเบื้องต้นร่วมกัน
ลีเซียนลุงกล่าวว่า อาเซียนควรมีเกณฑ์หรือแนวทางพื้นฐานว่า เมื่อไหร่จะใช้มาตรการจำกัดการเดินทางและการค้า และเมื่อไหร่จะผ่อนปรนมาตรการ รวมถึงจะมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสมอย่างไรบ้าง เพราะที่ผ่านมา แต่ละประเทศจะพิจารณาเรื่องนี้กันเองภายในประเทศ แต่แนวทางที่ชัดเจน จะทำให้อาเซียนมีวิธีการจัดการด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่สมดุลและสมเหตุสมผล
ผู้นำสิงคโปร์กล่าวว่า หลายประเทศส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์การเกษตร การปิดชายแดนทั้งหมดอาจเป็นการปิดกั้นสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ทุกประเทศ ทำให้เศรษฐกิจเสียหาย และยิ่งทำให้คนว่างงานมากขึ้น
ลีย้ำว่า ประเทศอาเซียนจะต้องค้าขายกันเองในกลุ่มต่อไป และโน้มน้าวให้คู่ค้ายังดำเนินการค้าขายต่อไปเรื่อยๆ มาเลเซียและสิงคโปร์ พยายามรักษาระดับการค้าขายสินค้าให้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ แม้มาเลเซียจะขยายมาตรการจำกัดการเคืล่อนย้ายออกไปถึงวันที่ 28 เม.ย. และสิงคโปร์ประกาศให้หยุดการเดินทางไปทำงานออกไปถึงวันที่ 4 พ.ค.ก็ตาม
นอกจากนี้ ลีเซียนลุงกล่าวว่า “การรับมือกับวิกฤตเร่งด่วน โดยที่สายตาไม่หลุดไปจากเป้าหมายระยะยาวเป็นทางที่ดีที่สุดุในการทำให้เศรษฐกิจผ่านวิกฤตนี้ และฟื้นกลับขึ้นมาหลังโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว” เขาจึงเสนอให้อาเซียนตั้งใจจะลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ภายในปีนี้ และผลักดันข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งทางอากาศกับสหภาพยุโรป
ที่มา : Channel News Asia, Arab News