ไม่พบผลการค้นหา
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เชิญชวนประชาชนออกแบบพัฒนา Face Shield เชื่อป้องกันการ "รับ" และ "แพร่" เชื้อได้ 95-100 เปอร์เซ็นต์

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค โพสต์เฟซบุ๊ก เสนอแนวทางการทำ Face Shield เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ว่า 1.โรคโควิด-19 ทำให้มีผู้ป่วย 785,807 คน ผู้เสียชีวิต 37,820 คน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 เวลา 11.43 น. ทำให้เกิดความทุกข์แก่ประชาชน 200 ประเทศ และเศรษฐกิจโลกพังทลายลง

2.การรับมือโรคโควิดด้วยการเตรียมการรักษาพยาบาลให้พร้อม ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ไม่มีทางที่เตียงผู้ป่วย, ห้อง ICU, ยา, เครื่องช่วยหายใจ, ชุดป้องกัน PPE, หน้ากาก N95 จะสำรองได้มากพอ และที่สำคัญคือ บุคลากรทางการแพทย์ จะไม่เพียงพอและรับมือไม่ไหว เมื่อจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นหลายหมื่นถึงเป็นแสน

3. การควบคุมโรคโดยการคัดกรองหาผู้ป่วยและกลุ่มผู้เสี่ยงติดโรคเพื่อตัดวงจรการระบาดนั้น ทำได้ง่ายกว่าและใช้ทรัพยากรน้อยกว่าการมัวแต่ตั้งรับ รอผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาพยาบาล ดังตัวอย่าง ความสำเร็จในการชะลอการระบาดของโรคด้วยการตรวจคัดกรองกว่า 300,000 คนในเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม การควบคุมโรคยังต้องทุ่มเทคนและงบประมาณจำนวนไม่น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับการป้องกันโรคซึ่งถ้าร่วมใจทำกันทุกคนหรือเป็นส่วนใหญ่ จะได้ผลมากกว่า และใช้เงินน้อยกว่า

4. การป้องกันโรคโควิดที่ใช้อยู่ เช่น ใส่หน้ากากอนามัย กินร้อน ช้อนประจำตัว ล้างมือ พร้อมกับการห้ามนักเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเข้ามา ใช้ได้ผลในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ แต่ในหลายประเทศต้องใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นกว่านั้น เช่น Social Distancing, Lockdown ทั้งเมืองและประเทศ เช่น จีน อิตาลี สเปน เยอรมัน สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ อินเดีย และประเทศไทย บางประเทศใช้มาตรการเข้มข้นช้า ความรุนแรงของปัญหาก็มาก บางประเทศตัดสินใจใช้มาตรการเข้มข้นเร็ว ปัญหารุนแรงน้อยกว่ามาก

5. เลขาธิการองค์การสหประชาชาติบอกว่า Social Distancing เป็นเพียงการ "ซื้อเวลา" ไม่สามารถใช้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ แต่ต้องระดมตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยให่ได้มากที่สุด ส่วน Lockdown เมืองและประเทศ ทำให้เศรษฐกิจชะงักงันอย่างยิ่ง และหากดำเนินการยืดเยื้อ ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจมโหฬารเกินคาดคิด

6. "ซื้อเวลา" เพื่อรออะไรหรือ..เพื่อกดจำนวนผู้ป่วยให้เกิดอาการป่วยแล้วทยอยมารักษาทีละน้อย ไม่เกินกำลังในการรักษาพยาบาล (Flatten The Curve), เพื่อรอวัคซีน, หรือเพื่อรอภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) แต่ที่รอทั้งหมด อาจเป็นความหวังที่เลือนหายไปในสายลมก็ได้ เพราะเริ่มมีข้อมูลออกมาว่า ภูมิคุ้มกันของผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิดอาจหมดไปใน 8-9 เดือน วัคซีนอาจไม่มีจริง หรือถ้ามี ก็ป้องกันโรคได้เพียงระยะสั้นๆ

7. เราจึงต้องหันมาเน้นการป้องกันโรคโควิดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างจริงจัง เมื่อเรารู้ว่า ไวรัสเข้าสู่ร่างกายทาง ตา จมูก และปาก เราจึงได้ส่งเสริมการใช้หน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล แต่เราฉุกคิดไหมว่า หน้ากากอนามัยปกป้องเพียงจมูกและปาก แต่กลับปล่อยทิ้งดวงตาและใบหน้าเหนือหน้ากากอย่างเปิดเผย ไวรัสที่ติดมากับละอองฝอยของสารคัดหลั่ง สามารถผ่านเข้าไปในดวงตาหรือตกค้างที่ผิวหน้า ซึ่งหากเราขยี้ตา, ขยับหน้ากาก หรือสัมผัสใบหน้าแล้วหยิบอาหารเข้าปาก ไวรัสก็สามารถเข้าสู่ร่างกายได้

8. ถ้าเช่นนั้น ทำไมการใช้หน้ากากอนามัยจึงดูราวกับว่า ช่วยลดจำนวนผู้ป่วยในจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไตัหวัน ได้จริง ขณะที่ประเทศในยุโรปและอเมริกา ซึ่งประชาชนทั่วไปไม่นิยม หรือไม่ยินยอมใส่หน้ากากอนามัย มีจำนวนผู้ป่วยสูงมาก

9. เรื่องนี้อาจอธิบายได้ว่า แม้หน้ากากอนามัยช่วยป้องกันการ "รับ" เชื้อได้เพียง 50-67 เปอร์เซ็นต์ "ป้องกันเพียงครึ่งหน้า" หรือ "ป้องกันจมูกและปาก ไม่ป้องกันดวงตา" แต่ป้องกันการ "แพร่" เชื้อได้ 95-100 เปอร์เซ็นต์ เพราะถ้าผู้ป่วย ใส่หน้ากากอนามัย แล้วพูด จาม หรือ ไอ สารคัดหลั่งจะไม่สามารถทะลุผ่านหน้ากากอนามัยออกมาแล้วไปติดต่อผู้อื่นได้

ถ้าผู้ป่วยทุกคนทั้งมีและไม่มีอาการ ใส่หน้ากากอนามัย โรคย่อมหยุดการระบาดลง แต่เรารู้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่ผู้ป่วยทุกคนจะใส่หน้ากาก เพราะเขาไม่คิดว่าเขาป่วย ในระยะเวลาฟักตัวของเชื้อ ผู้รับเชื้อยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ ดังนั้น การป้องกันโรคโดยใส่เพียงหน้ากากอนามัย ต่อให้แนบชิดจมูก หุ้มคางจนสนิทเพียงใด ก็ป้องกันการ "รับ" เชื้อไม่ได้ เพราะเปิดดวงตาและครึ่งใบหน้าด้านบนอย่างโจ่งแจ้ง การใส่เพียงหน้ากากอนามัยจึงช่วยลดเพียงด้านการ "แพร่" เชื้อ แล้วต้องอาศัย Social Distancing ช่วยลดด้านการ “รับ” เชื้อ เช่นให้อยู่ห่างกัน 2 เมตร เพื่อลดการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ที่น่าเศร้าใจคือ เมื่อเกิดการระบาดใหม่อีกรอบดังที่กังวลว่าจะเกิดอีกในจีน เราก็ต้องทำ Social Distancing กันอีก

10. ในอีกด้านหนึ่ง ผมเห็นว่า Face Shield คลุมทั้งใบหน้า ตา จมูก และปาก จึงป้องกันมือที่อาจมีไวรัส ไม่ได้ล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล แล้วมาสัมผัสตา จมูก และปากโดยไม่ตั้งใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่แบบที่ใช้กันในปัจจุบัน ผมยังมีข้อสงสัยว่า จะป้องกันการ "รับ" ละอองฝอยขนาดใหญ่กว่า 5 ไมครอนที่มีไวรัส จากการ พูด ไอ และจาม ของผู้ป่วยในระยะ 2 เมตรได้ดีเพียงใด เพราะละอองฝอยอาจเล็ดลอดมาทางด้านบน ด้านข้าง และใต้คางได้บ้าง ผมประเมินเอาเอง อาจผิดหรือถูกก็ได้ ว่า Face Shield ป้องกันละอองฝอยได้ประมาณ 75-80 เปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกัน ถ้าผู้ป่วยใส่ Face Shield เมื่อเขาพูด ไอ และจาม สารคัดหลั่งที่พุ่งออกมาย่อมปะทะกับแผ่นพลาสติกใสและหยุดลงเกือบหมด ดังนั้น Face Shield ควรป้องกันการ "แพร่" ไวรัสได้ 85-90 เปอร์เซ็นต์

11. ในชั้นนี้ ผมขอเสนอว่า เราต้องพัฒนา Face Shield ให้มีดีไซน์ใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันทั้ง การ "รับ" และ "แพร่" เชื้อให้ได้ 95-100 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างนี้ ถ้าเราใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว ก็ควรใส่ Face Shield เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการ "รับ" เชื้อไวรัส ถ้าเราไม่มีหน้ากากอนามัย หรือหาซื้อไม่ได้ หรือไม่สะดวกในการใส่หน้ากากอนามัย ก็ควรซื้อหรือทำ Face Shield เองไว้ใช้ โดยดูวิธีทำจากคลิปใน Youtube ซึ่งมีอยู่มากมาย

12. เมื่อสังคมใดใส่ Face Shield และหน้ากากอนามัยเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ร่วมกับการล้างมือ กินร้อน ช้อนประจำตัว โรคโควิดจะหยุดระบาดลง ตามหลักการภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity)