ไม่พบผลการค้นหา
ปากคำ 2 นักกิจกรรมชาวระยอง ผู้ชูป้ายต้อนรับ ‘นายกฯ’ ในวันที่รัฐบาล ‘การ์ดตก’ เสียเอง ?

'ภาณุพงศ์ จาดนอก' หรือ 'ไมค์' เยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ชายวัย 24 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เพียงชั่วข้ามคืนภาพของเขาและเพื่อน ถูกเผยแพร่ในสื่อและโลกโซเชียลมีเดีย ระหว่างการชูป้ายข้อความประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ จ.ระยอง

ผู้คนในสังคมต่างโฟกัสและตั้งคำถาม ถึงการใช้กำลังควบคุมตัวเขาและเพื่อน ที่มีเพียงกระดาษข้อความ 2 แผ่น จากความอัดอั้นใจที่จะสื่อสารถึง ‘ผู้นำประเทศ’ จากความสุ่มเสี่ยง การแพร่ระบาดโควิด-19 อีกครั้ง

เพราะเขามองว่า "คนระยองไม่ใช่พาหะ แต่รัฐบาลนั่นแหละที่เป็นผู้แพร่เชื้อ"

ล่าสุด 'ภาณุพงศ์' ปรากฏชื่อเป็นหนึ่งในผู้ปราศรัย จากการนัดหมายของกลุ่มเยาวชน นิสิต นักศึกษา รวมพล “คนไม่ทน” กิจกรรมที่พวกเขา เตรียมประกาศเจตนารมณ์ ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในยามเย็นของวันที่ 18 ก.ค.2563 เพื่อสะท้อนสิ่งที่พวกเขาริดรอนจากการใช้อำนาจ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดการต่ออายุเวลาใด

109178563_3112346022193897_3784042545250534388_n.jpg

“นักเคลื่อนไหวทางสังคมต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ” เป็นข้อความแนะนำตัวในเฟซบุ๊กส่วนตัวของลูกพ่อขุนนายนี้ ความหมายที่ไม่ซับซ้อน ถูกฉายภาพผ่านกิจกรรมที่นำเสนอออกไป

“ให้เอาไปเลย อุ้มเอาไปเลย เอาออกไปจากพื้นที่” สิ้นเสียงคำสั่งจากนายตำรวจ ภาพชุลมุนของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ภาพการยื้อแย่งฉุดกระชาก 2 นักกิจกรรม ถูกแชร์ไหลผ่านโลกโซเชียลมีเดียไปอย่างรวดเร็ว

‘ไมค์’ เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้น โดยพยายามร้องตะโกนถามนายตำรวจคนนั้น ว่าเขาและเพื่อนทำผิดข้อหาอะไร แต่สิ่งที่ได้กลับมานั้น เขามองว่ามันคือการยัดเยียดข้อหาหรือไม่

"เดี๋ยวก็มีข้อหาเอง" นี่เป็นสิ่งที่ออกจากปากของผู้พิทักษ์สันติราษฎ์คนนั้น

"เราถูกยัดเข้าไปในรถ รถที่ไม่มีสัญลักษ์ใดๆ ว่าเป็นรถตำรวจ คนในรถไม่มีการห้อยป้ายหรือแสดงตัว ว่าพวกเขาเป็นใคร" ชายหนุ่มจากเมืองแกลง บอกเล่าถึงบรรยากาศตอนถูกอุ้มขึ้นรถ ไม่ว่าจะด้วยคำสั่งหรือเหตุผลประการใดก็ตาม ณ เวลานั้น พวกเขารู้เพียงว่า ความปลอดภัยของพวกเขากำลังถูกคุกคามแล้ว

  • บาดแผลระหว่างการถูกควบคุมตัว

"ตอนแรกเขาบอกว่าจะพาเราไป สภ.ระยอง แต่ไม่ใช่ เขาพาเราไปหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ตำรวจภูธรจังหวัดระยอง" ไมค์ ยังไม่ละความพยายามที่จะถามอีกครั้ง ในที่สุดเขาได้ตัดสินใจเดินออกจากวงล้อมนั้น ในเมื่อเขาไม่ได้คำตอบ ก็ไม่มีเหตุผลในการจำยอมถูกหน่วงเหนี่ยวไว้

ตลอดเส้นทางเกือบ 2 กิโลเมตร ระหว่างทางเดินเท้ากลับมาทำในสิ่งที่เขาตั้งใจ ถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบทุกฝีก้าว ผู้คนที่อาสาให้ความช่วยเหลือ กลับถูกกีดกันและถูกยึดกุญแจ แม้ว่าเขาจะบอกกล่าวเจ้าหน้าที่ว่าสิ่งที่ทำอยู่

“คุณกำลังละเมิดสิทธิประชาชนอยู่นะ” แต่ก็ไร้คำตอบ

เยาวชนสองคนได้เดินทางกลับมาเพื่อทำกิจกรรมอีกครั้ง แต่การเข้าถึงตัว ‘ผู้นำประเทศ’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อมีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อบล็อกช่องโหว่ “มีการสั่งอุ้มอีกครั้ง” ไมค์ถูกยึดมือถือระหว่างไลฟ์สด

ผู้คนเริ่มเข้ามามุงดู จากวัยรุ่น 2 คน กลับกลายเป็นภาพประชาชนนับร้อยคน ต่างส่งเสียงตำหนิเจ้าหน้าตำรวจ ในการใช้กำลังกับประชาชนที่มีเพียง "ป้ายกระดาษ"

"ทำไมคนเชียร์ลุงตู่ถึงห้อมล้อมส่งเสียงเชียร์ได้ แต่ทำไมพวกผมกับทำไม่ได้ เราไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติแบบนี้" คำพูดที่ชวนสงสัยถึงความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียม เป็นสิ่งที่นักศึกษาด้านการเมืองผู้นี้มองต่างออกไป

ในเมื่อนายกรัฐมนตรีบอกว่าจะมาทำให้ จ.ระยองเป็นพื้นที่ปลอดภัย ควรแสดงให้เห็นแบบที่พูดไว้ ไม่ใช่การที่ตำรวจมาอ้างว่า ต้องป้องกันไม่ให้ ‘ผู้นำประเทศ’ ติดเชื้อจากโรคระบาด ที่เกิดจากความประมาทของรัฐบาลเอง

ตลอดช่วงเวลาของการพูดคุย จากปากผู้เล่าส่งต่อผู้ฟัง ด้วยน้ำเสียงที่ถ่ายทอดออกมา สะท้อนการตั้งคำถามต่อสิ่งที่พวกเขาถูกกระทำ ภาพบาดแผลเมื่อครั้งเหตุการณ์ยังปรากฏบนกาย เสียงคำสั่งที่ยังฝังอยู่ในใจ

เราจึงอดถามไม่ได้ว่า ในฐานะที่ไมค์เป็นเยาวชนคนหนึ่ง วาดฝันอย่างไรกับประเทศนี้

"การทำกิจกรรมที่ผ่านมา เราอยากเห็นบ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ เราไม่ได้ต้องการสงคราม ขอเพียงรับฟังเสียงเราบ้าง และอยากให้ประเทศไม่มีความเหลื่อมล้ำ ต้องไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะทุกชนชั้น ทุกคนสามารถแสดงออกตามสิทธิที่เราพึงมี"

อนึ่งภายหลังการชูป้ายต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จากคำบอกเล่าของ ‘ไมค์’ นักกิจกรรมทั้งสองคน ล้วนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ มีการเดินทางไปถ่ายรูปบ้านพักของครอบครัว สอบถามประวัติจากผู้ใกล้ชิด ไม่ต่างจากเพื่อนนิสิตนักศึกษาในหลายพื้นที่ของประเทศ ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

ขณะที่พวกเขาได้เข้าแจ้งความ ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ระยอง 3 ข้อหา ประกอบไปด้วย

  • ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
  • ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.309 ฐานใช้กำลังประทุษร้าย
  • ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.310  ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง

ด้านคู่กรณี พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปิดเผยว่า ตร.เตรียมเอาผิดสองเยาวชน 4 ข้อกล่าวหา ประกอบไปด้วย

  • ความผิดฐานทำกิจกรรม ที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดฯ ซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ 18
  • ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ที่ห้ามกระทำการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะฯ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558
  • ขัดคำสั่งเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
  • หลบหนีไประหว่างที่ควบคุมของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวน

หรือนี่อาจจะเป็นความเสมอภาคที่พวกเขาไม่พึงปรารถนา....

อ่านเพิ่มเติม

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog