นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และประธานคณะกรรมธิการแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (จีเอสพี) ของไทยในวันที่ 25 เม.ย. 2563 โดยให้เหตุผลว่า ประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาแรงงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยหลังจากที่ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน ออกมาให้สัมภาษณ์ ที่นอกจากจะไม่ได้ตอบคำถามข้อสงสัยว่า สิทธิแรงงานข้อไหนที่เป็นปัญหาจนนำมาสู่การ ตัดสิทธิพิเศษนี้ อีกทั้งยังไปพาดพิงประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องเช่นเรื่อง นิสัยส่วนตัวของประธานาธิบดีทรัมป์ นั้น
นายสุเทพ กล่าวว่า ปีกแรงงานพรรคอนาคตใหม่อยากจะสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย รัฐบาลไทยล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน กฎหมายแรงงานไทยยังล้าหลังกว่ามาตรฐานแรงงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล แรงงานจำนวนมากไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อต่อรองได้อย่างเสรี ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO ที่ 87และ98 เพื่อรับรองสิทธิการรวมตัวว่าเป็นสิทธิพื้นฐาน
แม้จะมีการรณรงค์มาอย่างยาวนานโดยขบวนการแรงงาน รวมถึงรณรงค์ให้กฎหมายไทยสอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่กดทับแรงงานมาโดยตลอด อนุสัญญา ILO ที่ 87 คือเรื่องของการให้สิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวกัน และ 98คือการเจรจาต่อรองของแรงงาน การนิ่งเฉยของรัฐบาลไทยที่รับฟังแต่กลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ในประเทศ และเมินเฉยต่อผู้ใช้แรงงาน ผลก็คือ ไทยมีอัตราการรวมตัวของแรงงานอยู่ที่ 1.6 เปอร์เซ็นต์ ต่ำที่สุดในอาเซียน ซึ่งตัวอย่างการละเมิดสิทธิแรงงานแต่ละรูปแบบคือ
1.แรงงานขาดเสรีภาพในการรวมตัวต่อรอง กล่าวคือกฎหมายไทยและการตีความของศาล (court interpretation) จำกัดสิทธิการรวมตัวของแรงงานชั่วคราวหรือแรงงานสัญญาจ้าง(subcontracted workers) แรงงานสัญญาจ้างไม่นับเป็นลูกจ้างของบริษัทที่ทำงานให้ แต่นับเป็นลูกจ้างของบริษัทที่จัดหางานมาให้แรงงานเหล่านี้ ทำให้แรงงานสัญญาจ้างไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงานได้ อีกทั้งนายจ้างนิยมเพิ่มจำนวนแรงงานสัญญาจ้าง เพื่อลดกิจกรรมในสหภาพแรงงาน
2.สิทธิในการรวมตัวหยุดงานและเสรีภาพในการแสดงออก ตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ห้ามลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจในการรวมตัวหยุดงาน มาตรา 77 กำหนดโทษอย่างรุนแรงแก่ผู้ฝ่าฝืน และสมาชิกสหภาพแรงงาน,นักสิทธิมนุษยชนมักถูกฟ้องอาญา เมื่อเปิดเผยข้อมูลการละเมิดแรงงาน ทั้ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์และแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ ระบุข้อยกเว้นอย่างกว้างๆไว้ ให้นายจ้างสามารถฟ้องได้ หากการกระทำนั้นเป็นการทำให้ชื่อเสียงของนายจ้างเสื่อมเสีย
3.การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติและแรงงานบังคับ กล่าวคือการละเมิดสิทธิแรงงานและการบังคับใช้แรงงานถูกเปิดเผยอย่างต่อเนื่อง มีแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศให้รัฐบาลออกกฎหมายและรับสนธิสัญญาเพื่อคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยกเลิกการให้สัตยาบันสนธิสัญญา ILO C188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง และ ILO 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวต่อรอง อีกทั้งยกเลิกการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถต่อรองกับนายจ้าง
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า ในฐานะตัวแทนของชนชั้นแรงงานเสนอว่า การแก้ปัญหาด้านสิทธิแรงงานข้างต้นอย่างเป็นระบบเท่านั้นจึงจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานให้มีชีวิตที่มั่นคงปลอดภัยได้ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เสนอกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 6 ข้อ เพื่อแก้ระยะแรก
1.รัฐต้องรับ อนุสัญญา ILO 87 , 98 ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวเจรจาต่อรอง เพื่อสนับสนุนเพิ่มอำนาจให้คนทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถต่อรองกับนายจ้างได้ จะไม่นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจ้างงานในที่ทำงานเดียวกัน
2.การต้องปรับเปลี่ยนพนักงานรายวันสู่การเป็นพนักงานรายเดือนเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิตของคนทำงาน ที่ปัจจุบันในสายการผลิตเดียวกันทำงานเดียวกัน แต่คนนึงเป็นพนักงานรายเดือนที่ได้เงินที่มั่นคงทุกเดือน อีกคนเป็นพนักงานรายวันที่หากวันไหนเกิดป่วยหรือวันหยุดที่ไม่ได้มาทำงานก็จะขาดรายได้ไปชีวิตไม่มั่นคงรายได้ไม่แน่นอน เหตุการณ์เช่นนี้เกิดมาเป็นทศวรรษ
3. ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรืออัตราเงินเฟ้อตามแต่ค่าใดสูงกว่า เพื่อให้รายได้ของผู้ใช้แรงงานสอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ
4. ต้องลดชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์ เป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มเวลาพักผ่อนให้กับคนทำงานให้คนทำงานได้มีเวลาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เพิ่มวันหยุดพักร้อนเป็น 10 วันต่อปีและสามารถสะสมได้
5. การเพิ่มสิทธิการลาคลอดและการเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้างเป็น 180 วัน เพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุที่มีประชากรรุ่นใหม่จำนวนน้อยลง
6. การกำหนดค่าจ้างตามประสบการณ์และมาตรฐานแรงงานเพื่อป้องกันการที่ผู้ใช้แรงงาน ต้องอยู่กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตลอดชีวิต
"สิ่งต่างๆเหล่านี้พรรคอนาคตใหม่มีความพยายามเป็นอย่างยิ่ง เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรส่วนหนึ่งของพรรคมาจากคนงาน มาจากผู้ใช้แรงงาน เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และอยากให้ภาคสังคมรวมไปถึงผู้บริหารประเทศ เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้แรงงาน เพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง มิเช่นนั้นจะโดนบิดเบือนอยู่อย่างนี้ ซึ่งเรื่องของวัฒนธรรมไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และยกระดับมาตรฐานสากล ประชาชนต้องตื่นตัวกับปัญหา GSP นี้ ที่จะต้องแก้ไขโดยด่วน โดยอาจจะส่งผลต่อไปกับภาคธุรกิจ และพี่น้องผู้ใช้แรงงาน" สุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า คำให้สัมภาษณ์ของ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน สะท้อนถึงการไม่ทำความเข้าใจปัญหารากลึกของการละเมิดสิทธิแรงงาน อันเป็นทัศนะของอภิสิทธิ์ชนที่ไม่มองว่การละเมิดสิทธิโดยนายทุนไทยถูกละเลยจากรัฐบาลอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ
นอกจากนี้กรรมาธิการแรงงานภายใต้การนำของสุเทพ อู่อ้น ได้ผลักดันให้รัฐบาลยกระดับการบังคับใช้กฎหมายแรงงานให้ครอบคลุมกำลังแรงงานทั้งระบบอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ยกระดับประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ รวมถึงการขึ้นบัญชีดำบริษัทที่มีการละเมิดสิทธิแรงงาน การยกระดับกฎหมายแรงงานและรับอนุสัญญา ILO 87-98 คือทางรอดของทุกคน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง