นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า แม้จีดีพีไตรมาสแรกของปี 2563 จะออกมาดีกว่าที่คาด แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่เหลือของปี คาดว่าจะให้ภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวลึกขึ้น และจากปัญหาการจ้างงาน ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศยังน่ากังวล ทั้งในประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูง และประเด็นการเมืองของสหรัฐฯ ทั้งในและระหว่างประเทศ ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพิจารณาปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2563 มาที่ติดลบร้อยละ 6
ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,000 ตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต มีการปรับพฤติกรรมในการเก็บออมและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งตอกย้ำถึงการรับรู้ด้านการใช้จ่ายครัวเรือนที่หดตัวลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยในส่วนของภาครัฐนั้น ด้วยระดับหนี้สาธารณะระยะสั้นที่ยังไม่น่ากังวล ทำให้พอมีทรัพยากรทางคลังในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจที่ประสบปัญหาในการฟื้นตัวหลังจากช่วงผ่อนคลายล็อกดาวน์นี้
"คาดว่าจีดีพีไตรมาส 2/2563 จะติดลบมากสุดเป็นตัวเลขสองหลัก ส่วนไตรมาส 3-4 ก็ยังติดลบแต่จะดีขึ้นกว่าไตรมาส 2 ส่วนการประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดจีดีพีไทยปีนี้เมื่อเดือน มี.ค. มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยตอนนั้นปรับจากขยายตัวร้อยละ 0.8 เป็นมาขยายตัวร้อยละ 0.5 กระทั่งเดือนเม.ย. สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมา จึงปรับประมาณการจีดีพีลดลงมาเป็นติดลบร้อยล 5 และมารอบนี้ให้ติดลบร้อยละ 6 เนื่องจากสถานการณ์ปีนี้ไม่เหมือนปีอื่นๆ เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ตั้งแต่ช่วงต้นปีผันผวนเร็วมาก กระทั่งถึงเดือนนี้มิถุนายน จึงปรับตัวเลขทุกตัวและให้จีดีพีปี 2563 ไว้ที่ติดลบร้อยละ 6" น.ส.ณัฐพร กล่าว
ประเมินธุรกิจ 'ท่องเที่ยว-รถยนต์-อสังหาริมทรัพย์' ฟื้นตัวช้าสุดและนานกว่า 1 ปี
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจท่องเที่ยว รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ถือเป็น 3 อุตสาหกรรมสำคัญที่คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่หากมองจากมิติของการจ้างงาน ธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีแรงงานในห่วงโซ่มากถึง 4 ล้านคน จะเป็นธุรกิจที่ภาครัฐจะพุ่งเป้าหมายการเยียวยาธุรกิจและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเป็นอันดับต้น ๆ โดยต้องยอมรับว่าธุรกิจหลักของไทยอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการฟื้นตัวให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับนโยบายการเงินยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญ โดยหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังสามารถทำได้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ได้แย่ถึงกับมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ
ส่วนการออก พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หรือ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท นั้น น่าจะมีความคืบหน้าในเรื่องเม็ดเงินหรือจำนวนซอฟต์โลนที่ออกมาตามลำดับเพื่อช่วยพยุงการจ้างงานและรักษาการจ้างงาน แม้จะไม่ได้เต็มอัตรา และยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะช่วยรักษาการจ้างงานได้เท่าไร
"ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอีในประเทศไทยปัจจุบันมี 3 ล้านราย จ้างงาน 13 ล้านคน มีการจ้างงานเฉลี่ยบริษัทละ 3-4 ตามขนาดและประเภทของธุรกิจ การมีเงินซอฟต์โลนตรงนี้ก็จะเป็นการช่วยประคองธุรกิจได้ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละธุรกิจยังมีความท้าทายที่แตกต่างกัน และในภาวะที่ตลาดหดตัว ผู้เล่นในตลาดมีจำนวนมากขึ้น การแข่งขันรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องสร้างความแตกต่างและหาทางฉีกตัวเองไปจากผู้อื่นทั้งในด้านสินค้าและบริการด้วย" น.ส.เกวลิน กล่าว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2563 ล่าสุด โดยให้ตัวเลขประมาณการจีดีพีทั้งปีติดลบร้อยละ 6 การบริโภคภาคเอกชนติดลบร้อยละ 2.3 การลงทุนภาคเอกชนติดลบร้อยละ 6.6 การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2 การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.1 การส่งออกติดลบร้อยละ 6.1 การนำเข้าติดลบร้อยละ 10.9 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ติดลบร้อยละ 0.5 ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :