ไม่พบผลการค้นหา
'บัตรคนจน' เจอทั้งปัญหาคนจนไม่จริง - ใช้งบไม่คุ้มค่า นักวิเคราะห์ชี้ เป็นเพราะไม่เคยมีการศึกษานโยบายก่อนนำมาใช้จริง

ตามข้อมูลของกรมบัญชีกลางพบว่า ตัวเลขผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่ลงทะเบียนในปี 2560 และที่ลงทะเบียนเพิ่มภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2560 - 28 ก.พ. 2562 มีทั้งสิ้น 14.5 ล้านราย และคิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 76,000 ล้านบาท

แม้จะมีโครงการในหลายระยะแล้ว แต่ประเด็นเรื่องการเข้ามาของ 'คนจนไม่จริง' ก็ยังเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เม็ดเงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศไปไม่ถึงมือผู้ที่มีความเดือดร้อนจริงๆ หรือผู้ที่มีรายได้น้อยจริงๆ 

บทความของ 'โสมรัศมิ์ จันทรัตน์' จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ และ 'ณัฐวุฒิ เผ่าทวี' อาจารย์จากมหาวิทยาลัยวอร์ริก ชี้ว่า ที่ผ่านมาผู้กำหนดนโยบายของไทยมักจะออกนโยบายมาบังคับใช้กับประชาชนโดยปราศจากการศึกษาถึงศักยภาพของนโยบายนั้นๆ ส่งผลให้นโยบายที่ออกมานั้นได้ผลลัพธ์ที่ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงไป

พร้อมแนะนำว่า การใช้การทดลองเเบบสุ่มเเละมีกลุ่มควบคุม Randomised controlled trials (RCTs) ถือเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดในการประเมินผลว่านโยบายสาธารณะที่จะนำไปใช้กับประชาชนนั้นมีประสิทธิภาพ (efficiency) เเละประสิทธิผล (effectiveness) มากน้อยเเค่ไหน 


ต่างประเทศช่วยคนจนอย่างไร

ระบบสวัสดิการแบบไทยที่เน้นช่วยเหลือคนเฉพาะกลุ่มหรือในที่นี้คือผู้ที่มีรายได้น้อย เป็นรูปแบบที่มีใช้ในต่างประเทศเช่นเดียวกัน อาทิ โครงการ ‘Productive Safety Net Programme’ ของเอธิโอเปีย หรือโครงการ ‘Prospera’ ในเม็กซิโกที่เพิ่งถูกยกเลิกไปเมื่อปีที่แล้ว รวมไปถึงโครงการ ‘Program Keluarga Harapan’ ของอินโดนีเซีย 

ขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหนึ่งรูปแบบสวัสดิการจากภาครัฐที่เรียกว่า 'รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า' หรือ Universal Basic Income ที่เป็นการแจกรายรับประจำให้กับประชากรทุกคน ก็เริ่มมีการทดลองใช้ในฟินแลนด์ตั้งแต่ ม.ค. 2560 - ธ.ค. 2561 โดยมอบเงินราว 634 ดอลลาร์สหรัฐฯ / เดือน หรือประมาณ 22,000 บาท ให้กับคนตกงานจำนวน 2,000 คน โดยเป็นการทดลองว่านโยบายดังกล่าวจะใช้ได้ผลกับประชาชนหรือไม่ 

จากผลการทดลองพบว่าประชาชนมีความสุขขึ้นจริงแต่อัตราการว่างงานกลับไม่ได้ลดลง และท้ายที่สุดรัฐบาลฟินแลนด์ไม่ได้เลือกทดลองโครงการดังกล่าวต่อ

อีกหนึ่งรูปแบบสวัสดิการที่มีต่างประเทศหันมาปรับใช้คือ 'อัตราภาษีติดลบ' หรือ 'negative income tax' ที่ยืนอยู่บนฐานการประกันรายได้ และการคืนภาษีให้กับประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าฐานการประกันรายได้ของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันมีบางรัฐของแคนาดากำลังทดลองระบบดังกล่าวอยู่

ท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายของบัตรคนจนที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำอาจจะไม่ใช่เรื่องผิด แต่เรื่องที่ผิดคือการไม่มีการศึกษาถึงผลของนโยบายอย่างถี่ถ้วนก่อนนำมาปรับใช้กับประชาชนหมู่มาก ส่งผลให้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนถูกนำไปใช้อย่างไม่คุ้มค่า

อ้างอิง; The Economist, BBC


ข่าวที่เกี่ยวข้อง;