ไม่พบผลการค้นหา
ส่งออกเดือน ต.ค. ทรุดร้อยละ 4.5 รวม 10 เดือน ส่งออกไทยในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบร้อยละ 2.4

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ต.ค. 2562 มีมูลค่า 20.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.5 ตามเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางจากมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญชะลอตัวในรอบหลายปี 

อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ มีสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่ สินค้าเกษตรและเกษตรอาหาร เช่น น้ำตาลทราย ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 

สินค้าอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และนาฬิกาและส่วนประกอบ 

นอกจากนี้ วัฏจักรการส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ กลับมาเป็นบวกในรอบ 13 เดือน และใกล้เคียงมูลค่าช่วงก่อนมาตรการภาษีภายใต้สงครามการค้ามีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.ย. 2561 เช่นเดียวกับแผงวงจรไฟฟ้าที่เริ่มกลับมาขยายตัวในระยะ 2 เดือนที่ผ่านมา 

ในรายตลาด การส่งออกไปสหรัฐฯ ยังขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ และการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น และไต้หวันกลับมาขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนการปรับตัวการส่งออกจากมาตรการกีดกันทางการค้าได้บางส่วน 

รวม 10 เดือนของปี 2562 การส่งออกหดตัวร้อยละ 2.4 มูลค่าการค้ารวมมูลค่าการค้าในรูปของเงินบาท เดือน ต.ค. 2562 การส่งออก มีมูลค่า 628,319 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 621,738 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.2 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 6,581 ล้านบาท รวม 10 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 6,461,028 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 4.8) การนำเข้ามีมูลค่า 6,306,472 ล้านบาท (ลดลงร้อยละ 6.4) และการค้าเกินดุล 154,556 ล้านบาท

สำหรับมูลค่าการค้าในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือน ต.ค. 2562 การส่งออก มีมูลค่า 20,758 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) ในขณะที่ การนำเข้า มีมูลค่า 20,251 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 7.6 ส่งผลให้การค้าเกินดุล 507 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

รวม 10 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกมีมูลค่า 207,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 2.4) การนำเข้ามีมูลค่า 199,442 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 4.1) และการค้าเกินดุล 7,888 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 4.3 (YoY) สินค้าเกษตรสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 28.7 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย จีน กัมพูชา มาเลเซีย และเกาหลีใต้) เครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 14.4 (ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม เมียนมา จีน และสิงคโปร์) ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 4.6 (ขยายตัวในตลาดจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และไต้หวัน) ไก่สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 2.3 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน เนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ และมาเลเซีย)

สินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว หดตัวร้อยละ 26.6 (หดตัวในตลาดแอฟริกาใต้ เบนิน และจีน แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ แคเมอรูน และโมซัมบิก) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 25.2 (หดตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย แต่ยังขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์) ยางพารา หดตัวร้อยละ 22.9 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย และอินเดีย แต่ยังขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้) กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัวร้อยละ 6.6 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดญี่ปุ่น จีน และไต้หวัน) รวม 10 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวที่ร้อยละ 2.4


สินค้าอุตสาหกรรมหด

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวที่ร้อยละ 2.6 (YoY) สินค้าสำคัญที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ นาฬิกาและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 72.0 (ขยายตัวในตลาดไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ และเยอรมนี) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 34.9 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ กัมพูชา สหราชอาณาจักร และจีน) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัวที่ร้อยละ 18.7 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร และเวียดนาม) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวร้อยละ 14.3 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา) 

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัวเกือบทุกตลาดที่ร้อยละ 25.8 (หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม กัมพูชา แต่ยังขยายตัวในตลาดมาเลเซีย) ทองคำ หดตัวร้อยละ 22.2 (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และลาว แต่ยังขยายตัวในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และรัสเซีย) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ หดตัวร้อยละ 13.5 (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม แต่ยังขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น) เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 6.3 (หดตัวในตลาดอินเดีย เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี แต่ยังขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน) รวม 10 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวที่ร้อยละ 1.4


ตลาดส่งออกสำคัญ

แม้ว่าการส่งออกไปตลาดสำคัญยังคงหดตัว แต่มีสัญญาณการขยายตัวมากขึ้น และคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้มากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยการส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัวเพียงร้อยละ 0.6 เนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 4.8 และ 0.5 ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรปหดตัวร้อยละ 8.8 ด้านการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงหดตัวร้อยละ 7.6 เป็นผลมาจากการส่งออกไป CLMV อาเซียน-5 และจีนหดตัวร้อยละ 9.9 8.9 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตามการส่งออกไปไต้หวันขยายตัวสูงถึงร้อยละ 23.4 สำหรับตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ร้อยละ 6.4 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลาตินอเมริกา และแอฟริกา หดตัวร้อยละ 25.1 13.2 และ 9.8 ตามลำดับ 

ขณะที่การส่งออกไปตะวันออกกลางกลับมาขยายตัวร้อยละ 3.7 ตลาดสหรัฐอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 4.8 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์กึ่งตัวนำฯ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องปรับอากาศฯ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 ขยายตัวร้อยละ 13.1

ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 0.5 และเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือนติดต่อกัน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศฯ และ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 0.3

ตลาดจีนหดตัวร้อยละ 4.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 5.5

ตลาดสหภาพยุโรป (15) หดตัวร้อยละ 8.8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.8

ตลาด CLMV หดตัวร้อยละ 9.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย ขณะที่ 10 เดือนแรกของ ปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.8

ตลาดอาเซียน-5 หดตัวร้อยละ 8.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และอากาศยานและส่วนประกอบ ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 9.5

ตลาดเอเชียใต้ หดตัวร้อยละ 24.0 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และเครื่องยนต์สันดาปฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.9

ตลาดอินเดีย หดตัวร้อยละ 17.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และเหล็กและผลิตภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 2.1

ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวร้อยละ 3.7 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำตาลทราย อาหารทะเลแปรรูปฯ อัญมณีและเครื่องประดับ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 3.7

ตลาดทวีปออสเตรเลีย หดตัวร้อยละ 7.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 2.9

ตลาดลาตินอเมริกา หดตัวร้อยละ 13.2 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลฯ และเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 6.0

ตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS หดตัวร้อยละ 25.1 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลไม้กระป๋องฯ และ เครื่องยนต์สันดาปฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีฯ ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 10.8

ตลาดทวีปแอฟริกา หดตัวร้อยละ 9.8 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว และเม็ดพลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 9.6


แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562

แนวโน้มการส่งออกยังคงเผชิญความเสี่ยงสูงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และเริ่มขยายวงกว้างไปสู่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบหลายปี 

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงรายภูมิภาค/ประเทศ และด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำและเงินบาทที่แข็งค่า ยังเป็นปัจจัยกดดันการค้าและการส่งออกไทยในระยะสั้น-กลาง 

อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลการแลกเปลี่ยนเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและสร้างสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย จะช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไปได้บ้าง โดยผู้ส่งออกอาจพิจารณาทำสัญญาซื้อขายระยะยาว เพื่อลดผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อีกทางหนึ่ง

ในระยะที่ผ่านมา การส่งออกไทยถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ สะท้อนพื้นฐานการส่งออกที่ดีและมีความยืดหยุ่นสามารถปรับตัวและกระจายการส่งออกในสินค้ากลุ่มใหม่ อาทิ เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องครัว และของใช้ในบ้าน ทั้งในตลาดเดิม และตลาดศักยภาพใหม่

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังให้ความสำคัญกับการผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่จะช่วยสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกร

ในภาวะที่ทุกประเทศผู้ส่งออกกำลังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการค้า การรักษาฐานลูกค้าเดิมยังเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ส่งออกควรกระชับสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด โดยกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจา FTA ในอนาคต ได้แก่ ไทย-สหภาพยุโรป เพื่อขยายฐานตลาดส่งออกให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น