ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง "ธเนตร อนันตวงษ์" จำเลยคดียุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 และความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยให้ความเห็นว่าจำเลยไม่ได้มีเจตนานำไปสู่ความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

วันที่ 25 มิ.ย. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รายงานผ่านแฟนเฟซบุ๊ก iLaw ว่า ที่ศาลอาญารัชดา นัดนายธเนตร อนันตวงษ์ หรือตูน จำเลยคดียุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 และความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14(3) จากการโพสต์เฟซบุ๊กโจมตีรัฐบาล คสช.ในขณะนั้น และกองทัพ 

โดยศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษาสรุปได้ว่า โจทก์ฟ้องว่า ธเนตรโพสต์ข้อความและภาพในเฟซบุ๊กรวมถึงแชร์ข้อความบนเฟซบุ๊กของบุคคลอื่นที่มีเนื้อหาโจมตีรัฐบาล คสช. และกองทัพจำนวน 5 ข้อความบนเฟซบุ๊กของตัวเอง ได้แก่

1. วันที่ 16 ก.ย. 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า "ไปบ้านหมาเปรมตัดสินจำคุก ไม่เกี่ยวกับประชาชน กปปส. ยึดปิดสถานที่ราชการรอด? ประชาชนเดือดร้อน" และ "ประเทศ ไทยเอย ทำไม่เธอ มัน (หน้า...จริงจริง)"

2. วันที่ 9 ก.ย. 2558 โพสต์ข้อความในเชิงคาดการณ์ว่า มีกระบวนการบางอย่างเกิดขึ้นกับ "หมอหยอง" หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ ซึ่งอาจเป็นการข่มขู่ทรมานจนได้ความลับ หรือ ซัดทอดมากเกินไป จนไปเกี่ยวโยง คสช. จึงต้อง "ปิดปากหมอหยอง"

3. วันที่ 24 พ.ย. 2558 โพสต์ภาพบุคคลประกอบข้อความ "ลอยกระธงขับไล่ (เผด็จการ) อัปมงคล" ซึ่งเป็นการนัดหมายทำกิจกรรา

4. วันที่ 1 ธ.ค. 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า "กรณี.โหนเจ้าหาแดกอุทยานราชภักดิ์ ภาษามวยเขาเรียกว่า แผลแตกเล็กน้อย ไม่ได้โกงเยอะมากมายแต่มันอยู่ที่หัวคิ้ว ชัดเจน เราแค่ต่อยย้ำๆ ให้มันขยาย ตอนนี้ เลือดแม่งเข้าตาออกหมัดมั่วไปหมดสะใจกูจริงๆ 555"

5. วันที่ 1 ธ.ค. 2558 โพสต์ภาพและข้อความว่า "รณรงค์ใส่เสื้อแดงไปเที่ยวอุทยานราชภักดิ์ วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม"

โดยศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยโพสต์ข้อความนั้น แม้จะมีความเห็นต่างกับฝ่ายผู้มีอำนาจในขณะนั้น แต่กระทำไปตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ น่าเชื่อว่าการแสดงความคิดเห็นของจำเลยไม่ได้มีเจตนานำไปสู่ความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดนำไปสู่ความไม่สงบในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน แต่เป็นการกระทำเพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

ทั้งนี้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมานังไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะนำสืบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดต่อความมั่งคงของรัฐในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมาย ม.116 และความคิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามฟ้องศาลพิพากษายกฟ้อง

เส้นทางคดีของ "ธเนตร"

นายธเนตร เป็นนักกิจกรรมการเมือง เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษานั่งรถไฟไปตรวจสอบการทุจริตโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2558 หนึ่งอาทิตย์หลังกิจกรรม ธเนตรถูกเจ้าหน้าที่จับกุมและกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน "ยุยงปลุกปั่น" ตามประมวลกฎหมาย ม.116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14(3) นำเข้าข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศสู่ระบบคอมพิวเตอร์

เบื้องต้น ธเนตรได้รับการประกันตัวแต่เมื่อถึงเวลานัดศาลในวันที่ 20 ม.ค. 2559 เขาไม่มาตามนัด เพราะลี้ภัยไปต่างประเทศช่วงสั้นๆ ศาลจึงสั่งริบเงินประกันและออกหมายจับ ต่อมาธเนตรเดินทางกลับประเทศและเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยตัวเองเมื่อ ก.ค.2559

ต่อมาวันที่ 29 ส.ค. 2559 เมื่ออัยการทหารมีความเห็นสั่งฟ้องธเนตรในคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับ 3/2558 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ธเนตรถูกคุมขุงระหว่างการพิจารณาคดีเรื่อยมาเพราะศาลไม่ให้ประกันตัวเนื่องจากเห็นว่าธเนตรเคยหลบหนี

ในส่วนของคดีตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 จากกรณีทำกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุกธเนตรเป็นเวลา 4 เดือนโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งหากนับจากวันแรกที่ธเนตรถูกคุมขังคือวันที่ 29 ส.ค. 2559 ธเนตรจะรับโทษครบช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2559 แต่เนื่องจากธเนตรยังถูกดำเนินตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ได้แก่คดีนี้ซึ่งเขาไม่ได้รับการประกันตัวธเนตรจึงยังถูกคุมขังต่อไป

โอนย้ายคดีจากศาลทหารไปเป็นศาลอาญา

คดีของธเนตรซึ่งเบื้องต้นอยู่ในการพิจารณาของศาลทหารกรุงเทพเพราะเป็นคดีที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 กำหนดให้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร จากนั้นในวันที่ 9 ก.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 โอนคดีที่พลเรือนที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารกลับสู่ศาลยุติธรรมตามปกติ คดีของธเนตรจึงถูกโอนมาที่ศาลอาญาในเดือน ธ.ค. 2562 ก่อนที่จะนัดสืบพยานในวันที่ 12 และ13 พ.ค. 2563

ในวันที่ 10 มี.ค. 2563 ก่อนนายธเนตรจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระเนื่องจากศาลพิพากษายกฟ้อง พ่อของธเนตรเสียชีวิตลงในวัย 60 ปี ด้วยโรคเบาหวานและอาการแทรกซ้อนที่ตามมากับโรค โดยธเนตรจะได้รับการปล่อยตัวช่วงค่ำวันที่ 25 มิ.ย. 2563 รวมระยะเวลาที่เขาถูกคุมขัง 3 ปี 9 เดือน 28 วัน และหากหักลบระยะเวลา 4 เดือนที่ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุกเขาในคดีฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 จากการร่วมกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ เขาจะถูกคุมขังเพียงเพื่อรอการพิจารณาคดีเป็นเวลา 3 ปี 5 เดือน 28 วัน