นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวว่า จากที่มีการประกาศขยายเวลาพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป และยังคงตรึงมาตรการเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น. รวมไปถึงมีการควบคุมการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักร และจัดให้มีสถานกักกันโรค ส่วนการทำการบินให้งดปิดออกไปอีก 1 เดือน โดยอนุญาตให้บินเข้าเฉพาะบางสายการบิน เฉพาะกรณีขนส่งสินค้าหรือผู้ที่ขออนุญาตเดินทางเข้าประเทศล่วงหน้า รวมทั้งขอให้งดหรือชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น และยังคงแนวทางการทำงานที่บ้านให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 รวม รวมถึงขอให้ประชาชนที่เข้าไปในพื้นที่ที่คนจำนวนมากทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ให้งดเป็นการชั่วคราว
ส่วนมาตรการผ่อนปรนจะกำหนดให้มีมาตรฐานกลางของแต่ละกิจกรรม ซึ่งศบค.จะเป็นผู้กำหนดมาตรการผ่อนปรนเป็นมาตรฐานกลาง โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กำหนดรายละเอียดต่อไปทางในการปฏิบัติ ซึ่งแต่ละพื้นที่สามารถเข้มข้นมากกว่าได้ แต่ไม่สามารถมีความเข้มข้นน้อยกว่ามาตรฐานกลางได้ และต้องมีแนวทางดำเนินการด้วยการคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก แล้วนำปัจจัยด้านสังคมและเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณา
สำหรับกิจกรรมหรือกิจการที่มีการผ่อนคลายมี 6 แห่ง ได้แก่
1.ตลาด ประกอบด้วยตลาดนัด ตลาดสด ตลาดน้ำ ตลาดชุมชน ถนนคนเดิน และแผงลอย
2. ร้านจำหน่ายอาหาร ประกอบด้วย ร้านจำหน่ายอาหารทั่วไป ขนาดไม่เกิน 2 คูหา ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวานไอศครีม ที่อยู่บริเวณนอกห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารริมทางรถเข็น และหาบเร่
3.กิจการค้าปลีกค้าส่ง แบ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อบริเวณพื้นที่นั่ง หรือยืนรับประทาน รถเร่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีกขนาดย่อม ร้านค้าปลีกชุมชน ร้านขายปลีกขนาดย่อมหรือร้านค้าปลีกชุมชน ร้านขายปลีกกิจการสื่อสารโทรคมนาคม
4. กีฬาสันทนาการ แบ่งเป็นกิจกรรมในสวนสาธารณะ สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกาย ไม่ใช่การแข่งขัน ได้แก่ เทนนิส ยิงธนู จักรยาน กอล์ฟ สนามซ้อม
5.ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย เฉพาะตัด สระ ไดร์ผม
6.อื่นๆ ร้านตัดขนสัตว์ ร้านฝากรับเลี้ยงสัตว์
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่าขณะนี้ยังไม่มีการเปิดร้านภายในห้างสรรพสินค้าและมาตรการต่างๆ จะมีการยืดขยายมาตรการออกไป จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และขณะนี้จะไม่มีการขายสุราเกิดขึ้น โดยจะมีการประเมินผล หากพบว่า 14 วันตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 2 หลัก หรือ 3 หลัก จะต้องถอยหลังกลับมาตรึงมาตรการ และทำการทบทวนทั้งหมด
วิเคราะห์สถิติการฆ่าตัวตาย เตือนผู้ใกล้ชิดสังเกตสัญญาณ
สำหรับประเด็นสถิติการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ โฆษก ศบค. กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว โดยนำชุดข้อมูลทั้งจากข่าวที่มีตามหน้าหนังสือพิมพ์และเทียบเคียงกับบทความทางวิชาการมาหารือร่วมกันหลายครั้ง โดยจากรายงานของกรมสุขภาพจิตยอมรับ ว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมามีความน่าเป็นห่วงจริง เนื่องจากสถานการณ์นี้เป็นวิกฤตทั้งทั่วโลกและคนไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจ็บป่วยทางกายและการเจ็บป่วยทางจิตใจ ซึ่งยอมรับกันทั่วโลกมีผลกระทบที่ชัดเจน
โดยแนวโน้มการพยากรณ์ด้านนี้ ก็เหมือนการพยากรณ์โรคติดเชื้ออื่นๆ ว่า สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้เห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองเพิ่มสูงขึ้น การพยากรณ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และไม่เป็นเรื่องท่ี่ผิดไปจากความคาดหมาย
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้โดยหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขก็ทำคล้ายๆ กับการควบคุมโรคติดต่อ คือ ถึงแม้จะพยากรณ์ว่าน่าจะเพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเข้าไปศึกษาและหาทางลดจำนวนการสูญเสียในเรื่องการฆ่าตัวตาย ซึ่งโดยหลักการแล้วการป้องกันเรื่องฆ่าตัวตายเป็นเรื่องที่ป้องกันได้
ดังนั้นในกรณีสัญญาณของการฆ่าตัวตาย สัญญาณการเจ็บป่วยทางจิตทางกายต่างๆ ที่มีมาก่อน เป็นกระบวนการที่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขจะต้องเข้าไปดู รวมถึงด้านภาคเศรษฐกิจต่างๆ การมีการแก้ไขปัญหาที่ตรงเหตุยอมช่วยให้ลดการสูญเสียไปได้ด้วย เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และหลายประเทศต้องมีมาตรการระดับประเทศ ไม่ใช่มาตรการระดับกระทรวงเท่านั้น โดยต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ มาตรการส่วนบุคคล หากพบเห็นญาติหรือบุคคลใกล้ชิดมีแนวโน้มฆ่าตัวตายจะมีสัญญาณแสดงออก ดังนั้นขอให้ประชาชนที่เป็นญาติหรือผู้ใกล้ชิดให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และให้แจ้งที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชม. ขอให้ติดต่อมา แล้วทางเจ้าหน้าที่จะรีบเข้าไปช่วยแก้ไข
"เราเคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 หรือ ต้มยำกุ้ง ตอนนั้นตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นไปเป็น 8.3 ต่อแสนประชากร แต่ครั้งนี้ ณ เวลาตอนนี้ ยังไม่ถึงขนาดนั้น ยังมีมาตรการที่พวกเราสามารถป้องกันให้ตัวเลขลดลงได้ แต่ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
ประเมินผลผ่อนปรนระยะที่ 1 ต้องไม่พบผู้ป่วยใหม่เกิน 30 คน
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวชี้แจงถึงการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่สืบเนื่องกับตัวเลขจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ว่า จากการคาดการณ์ของประเทศไทย ขณะนี้มีสถิติผู้ป่วยใหม่ประมาณวันละ 7-9 ราย ติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา 4 วัน และมีผู้ป่วยที่ยังอยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) เพียง 213 ราย ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ศบค.ได้ดำเนินการในการจัดสถานที่กักกันที่รัฐบาลจัดไว้ (State quarantine ) จึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยน้อยลง เพราะถ้าหากไม่มีสถานที่กักกันตามที่ดำเนินการนั้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่า 1 หมื่นราย
"ขณะนี้ สถิติของประเทศไทยพบผู้ป่วยใหม่หลักไม่เกิน 10 ราย พร้อมทั้งยังมีการควบคุมผู้เดินทางเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงคิดว่าสถานการณ์ในประเทศไทยด้านมาตรการผ่อนปรนจะเป็นไปได้ด้วยดี และยังคงต้องดำเนินตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ดูแลตัวเอง สวมใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือ รวมถึงการหลีกเลี่ยงที่ชุมชน กิจกรรมต่างๆ" นพ.สุขุม กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานจะพยายามปรับเพื่อให้มีการดำเนินการที่ง่ายที่สุด มีผลกระทบน้อยที่สุด ในระยะแรก คาดว่าจะดำเนินการได้ทันที โดยในระหว่างนี้ประชาชนจะต้องให้ความร่วมมือ หน่วยงานภาคเอกชนยังต้องมีมาตรการทำงานที่บ้าน (work from home) หลีกเลี่ยงการออกมาสู่ที่ชุมชน การใช้รถสาธารณะ
หากดำเนินการได้ดี ภายในระยะเวลา 14 วัน จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ไม่น่าจะเพิ่มเกิน 20-30 ราย และหากระยะที่ 1 ดำเนินการไปแล้วพบผู้ป่วยในจำนวน 20-30 ราย ก็จะสามารถดำเนินการในระยะที่ 2 และระยะที่ 3 ต่อไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :