ไม่พบผลการค้นหา
หมู่บ้านคำเกิ้ม ต.อาจสามารถ อ.เมือง จ.นครพนม เป็นอีกแหล่งชุมชนชาวคาทอลิก ที่มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในหลายจังหวัดของภาคอีสานตอนบนถึงล่างริมฝั่งแม่น้ำโขง ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการเข้ามาสร้างชุมชนชาวคริสต์ของมิชนารีชาวฝรั่งเศส กระทั่งการเป็นชุมชนปิดยุคสงครามอินโดจีน ชีวิตผู้คนในหมู่บ้านผ่านวันเวลาและสร้างรากฐานวิถีชีวิตคริสศาสนชนในชุมชนเล็กๆ แห่งนี้สืบต่อมาหลายรุ่นหลายครอบครัว

'เชษฐา กัญญะพงศ์' เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวง และคณะกรรมการ ฝ่ายตลาด วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวง บ้านคำเกิ้ม เป็นชาวคำเกิ้มแต่กำเนิด เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน แล้วลาออกมาทำอาชีพเกษตรกรเลี้ยงไก่งวงเป็นรายได้หลักจนถึงปัจจุบัน เขาเล่าว่า ที่นี่เป็นชุมชนชาวคริสต์ มีโบสถ์ หรือ วัด เป็นศูนย์รวมจิตใจ ที่ทำการวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม และร้านลาบไก่งวงคำเกิ้ม ก็เช่าที่ดินของโบสถ์ดำเนินกิจการ

"ผมเริ่มเลี้ยงไก่งวงเป็นอาชีพเสริมมาตั้งแต่ปี 2545 แล้วเลิกไปตอนปี 2547 เพราะไข้หวัดนกมา กระทั่งปี 2552 กรมปศุสัตว์มีนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงไก่งวง ก็เลยกลับมาทำเป็นอาชีพหลักอีกครั้ง และตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงปี 2555" เชษฐา ย้อนที่มาที่ไปของกิจการไก่งวงของชุมชน

พร้อมเล่าถึงยุคขาขึ้น ขาลงของกิจการเลี้ยงไก่งวงว่า "เมื่อปี 2559 ช่วงนั้นไก่งวงบูมมาก เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ร้านไหนๆ ในนครพนมและจังหวัดใกล้เคียงก็มีเมนูไก่งวง ปริมาณความต้องการในช่วงนั้น เฉพาะในนครพนมมีมากถึง 12,000 ตัว แต่ตอนนี้เหลือเพียง 5,000 ตัว" 


เชษฐา กัญญะพงศ์-เกษตรกร-นครพนม

เชษฐา กัญญะพงศ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม จ.นครพนม

ปัจจุบัน สถานการณ์ในอาชีพของผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้มจึงอยู่ในระยะฝ่าฟันอุปสรรค จากเริ่มต้นมีสมาชิกวิสาหกิจฯ ผู้เลี้ยงไก่งวง 50 ราย ปัจจุบันเหลือเพียง 6-7 รายที่เลี้ยงไก่งวงจริงๆ 

ทั้งๆ ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม วางโครงสร้างองค์กรอย่างรัดกุม มีการผลิตทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ คือ ต้นน้ำ มีผู้เลี้ยงไก่งวง ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบ Free Range (ปล่อยลงทุ่ง ไม่ได้ยืนกรงทั้งวัน) กลางน้ำ มีผู้ผลิตอาหารสำหรับเลี้ยงไก่งวง เป็นกลุ่มที่ปลูกหญ้าหรือวัตถุดิบตามธรรมชาติมาส่งผู้เลี้ยง เพราะไก่งวงกินหญ้าถึงร้อยละ 60 ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ปีกทั่วไป และปลายน้ำ คือ ร้านลาบไก่งวงคำเกิ้ม และโรงงานเชือดและแปรรูปผลิตภัณฑ์ไก่งวง ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ อาทิ ไก่งวงแช่แข็ง ไก่งวงรมควัน ไส้อั่วไก่งวง เป็นต้น 


อีสาน-ไส้อั่วไก่งวง-นครพนม-อาหารอีสาน-ไก่งวง-นครพนม-อาหาร
"ช่วงเศรษฐกิจดีๆ 4-5 ปีก่อน ที่ร้านลาบใช้ไก่งวงวันละ 10-20 ตัวเลยนะ แต่ช่วงนี้ใช้แค่วันละ 4-5 ตัว แล้วเราต้องยอมรับว่า คนที่มาทานที่ร้านก็เป็นพวกข้าราชการ แขกที่มาจากต่างจังหวัด หรือโอกาสสำคัญของคนในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นถึงจะมีต้นน้ำผลิตไก่ กลางน้ำผลิตอาหาร และปลายน้ำคือร้านอาหาร และทำแปรรูปส่งไปขายนอกพื้นที่ แต่เราก็ยังต้องสู้อีกเยอะอยู่" เชษฐา กล่าว


ดังนั้น ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงและคณะกรรมการฝ่ายการตลาด วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม จึงมองว่า อุปสรรคสำคัญของเกษตรกรที่เข้ามาทำงานบริหารจัดการทำผลิตภัณฑ์ครบวงจรนั้น สิ่งที่ยากที่สุดคือเรื่องการตลาด และไม่ใช่เฉพาะกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงเท่านั้น แต่เป็นกับสินค้าเกษตรทุกตัว 

เชษฐา บอกว่า การเข้ามาทำตรงนี้ บางทีก็คิดว่า ทำใหญ่เกินตัวเรา แต่เราก็อยากทำให้ตัวเองมีอาชีพ ให้คนในพื้นที่มีรายได้เสริม แล้วก็ภูมิใจลึกๆ ที่ไก่งวงบ้านคำเกิ้ม ได้รับการยอมรับและรับรองจากกรมปศุสัตว์ว่าเป็นฟาร์มเลี้ยงในระบบมาตรฐานแบบ Free Range หรือ แบบปล่อยลงทุ่ง เป็นฟาร์มเดียวในนครพนมที่ได้รับใบรองนี้จากกรมปศุสัตว์ ที่สามารถผลิตไก่งวงแปรรูปคุณภาพดีออกสู่ตลาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันคือ แม้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เป็นไก่ที่มีสุขภาพจิตดี แต่มันขายไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์


อีสาน-ลาบไก่งวง-นครพนม-อาหารอีสาน-ไก่งวงต้มแซ่บ-นครพนม-อาหาร

"ผู้บริโภคหลายคนมาชิมไก่งวง ก็บอกว่า มันอร่อย รสชาติมันดี คือดีทุกอย่าง แต่ก็น่าแปลกใจว่า เวลาเรานำผลิตภัณฑ์เราไปวางขายตามจุดจำหน่ายสินค้าแปรรูปต่างๆ ตามร้านขายผลิตภัณฑ์ของฝากต่างๆ ในแต่ละสถานที่ เราแทบไม่ได้ขาย ผมจึงบอกว่า การสร้างการรับรู้เป็นเรื่องสำคัญของการเลี้ยงไก่งวง ซึ่งตอนนี้จากที่ได้พูดคุยกับเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะก็ปัญหาเดียวกัน กอดคอไปด้วยกันได้" เชษฐาเล่าไป พร้อมน้ำเสียงขำขื่นไปด้วย

ดังนั้น สิ่งที่เขาฝากทิ้งท้ายไว้ คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม พร้อมจะปรับตัว พร้อมจะรับการเปลี่ยนแปลง และมีความพร้อมในการผลิตไก่งวงทุกอย่าง ทั้งโรงเชือดโรงแปรรูปที่ได้มาตรฐาน โรงเลี้ยงมาตรฐาน แต่สิ่งที่ยังขาดคือการประชาสัมพันธ์ การสร้างการรับรู้แก่ตลาดว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีไก่งวงรสชาติดี มีคุณภาพ เป็นไก่เลี้ยงในระบบเปิดปล่อยลงทุ่ง และมีความหวังว่า สักวันหนึ่งใบรับรองจากกรมปศุสัตว์ที่ได้มา จะทำให้กิจการไก่งวงของคำเกิ้ม สามารถส่งไก่งวงแปรรูปไปขายในตลาดต่างประเทศได้ด้วย


อีสาน-ไก่งวงรมควัน-นครพนม-อาหารอีสาน-ไส้อั่วไก่งวง-นครพนม-อาหาร

"คนสิงคโปร์ คนจีนต่างก็ต้องการไก่งวงของเรา แต่พอจะส่งออกเขาบอกซื้อไม่ได้ เพราะไม่มั่นใจในระบบการเลี้ยง เราก็แคลงใจอยู่ว่า อ้าว เราก็ได้ใบรับรองจากกรมปศุสัตว์แล้ว แต่ทำไมทำไม่ได้ มันจึงเป็นเรื่องแคลงใจอยู่" เชษฐา บอกเล่าปิดท้าย


เรื่องที่เกี่ยวข้อง :