ไม่พบผลการค้นหา
‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ จำลองการควบคุมตัวที่สโมสรตำรวจ ลั่น เตรียมปักหลักชุมนุมหน้าทำเนียบอีกครั้ง 13 ธ.ค. นี้ ไม่หวั่นโดนสลาย-ยัดคดีเพิ่ม จ่อเชิญ UN และองค์กรสิทธิร่วมจับตา จี้รัฐทำตามสัญญาที่ให้ไว้

(11 ธ.ค.) นับเป็นเวลา 6 วันแล้วที่ ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ เดินทางมาทวงสัญญาจากรัฐบาล ให้ทบทวนหรือยกเลิกการดำเนินโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยในวันนี้ เวลา 13:30 น. หน้าที่ทำการสหประชาชาติ ทางเครือข่ายได้ทำกิจกรรมจำลองบรรยากาศการถูกควบคุมตัวของชาวบ้านจะนะ 37 ราย ที่สโมสรตำรวจ หลังถูกสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีการพิมพ์ลายนิ้วมือ และถือป้ายข้อความ ระบุว่า “พวกเขาคือผู้ปกป้อง ไม่ควรเป็นผู้ต้องหา” พร้อมเสียงตะโกนว่า “เราไม่ผิด” อย่างต่อเนื่อง จากนั้น ตัวแทนเครือข่ายได้นำแถลงข่าวถึงความคืบหน้าและเจตนารมณ์ของการเคลื่อนไหวต่อไป

โดย รุ่งเรือง ระหมันยะ บิดาของไครียะห์ ระหมันยะ หรือลูกสาวแห่งทะเลจะนะ กล่าวว่า ขณะนี้ครบรอบ 1 ปีของการทำสัญญากับรัฐบาล แต่ปรากฏว่าในการมาทวงสัญญาวันแรกที่หน้าทำเนียบรัฐบาล พวกเรากลับถูกสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนมาคุมตัวขึ้นรถพาไปกักกัน และถูกดำเนินคดีใน 3 ข้อหา คือ 1. ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2. กีดขวางการจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 3. ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ยืนยันว่า เจตนารมณ์ของเครือข่ายคือต้องการที่จะปกป้องพื้นทะเล แผ่นน้ำ และอากาศ ไม่ใช่เฉพาะแต่อำเภอจะนะอย่างเดียว แต่อุตสาหกรรมทุกแห่งทุกภาค เมื่อภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม ก็จะมีการละเมิดสิทธิในแต่ละท้องถิ่น

ดังนั้น ในช่วงบ่ายของวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค. พวกตน พร้อมภาคีเครือข่ายจะเดินทางกลับไปปักหลักชุมนุมที่หน้าประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล จนกว่าจะได้รับคำตกลงข้อสัญญาที่เสนอไปแล้ว

ด้าน สมบูรณ์ คำแหง ระบุถึงเหตุผลของการปักหลักชุมนุมหน้าที่ทำการสหประชาชาติว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งเงื่อนไขไม่ให้พวกตนกลับมาปักหลักชุมนุมอีก หลังได้รับการปล่อยตัวออกมานั้น ตนมองว่าเป็นการใช้กฎหมายปิดปาก ทั้งที่พวกตนเพียงแค่พูดถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน และมาทวงสัญญาที่รัฐบาลทำการบิดพลิ้ว ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องทบทวนตัวเองอย่างหนัก และรับฟังพวกตนให้มากกว่านี้ และแม้ว่าในอนาคต พวกตนจะถูกดำเนินคดีเพิ่มเติม ก็ไม่มีความกังวลแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายยังเปิดเผยว่า ก่อนการเดินทางไปชุมนุมหน้าทำเนียบวันที่ 13 ธ.ค.นี้ จะทำหนังสือเชิญตัวแทนจากสหประชาชาติ กสม. กมธ.สภาฯ และองค์กรประชาสังคมภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีการสลายการชุมนุมโดยมิชอบอีกด้วย