วันนี้ (28 เมษายน 2568) ณ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงนครพนม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหายาเสพติดข้ามแดนในพื้นที่ โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอก สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พลตํารวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ เลขาธิการ ป.ป.ส. นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และผู้บริหารหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร รับฟังผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวรายงาน แผนปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดและปราบปรามตามมาตรการ “Seal Stop Safe” โดยผนึกกำลัง 51 อำเภอชายแดน และโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข ตามต้นแบบธวัชบุรีโมเดล พร้อมรับชมวีดิทัศน์ผลการดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาพื้นที่จังหวัดนครพนม
จากนั้น แม่ทัพภาคที่ 2 และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 24 (นบ.ยส. 24) ได้สรุปผลการสกัดกั้น และปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปิดล้อมตรวจค้น จับกุม ตั้งแต่ 1 ต.ค.67 จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 7,171,815,610 บาท ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานตลอดปีงบประมาณที่ผ่านมา ในปี 2568 (1 ต.ค 67 - เม.ย.68) สามารถตรวจยึดจับกุมยาบ้าได้ 104,955,437 เม็ด เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 332.04 หรือ 3.3 เท่า เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ ส่วนยาไอซ์ ในปี 2568 (1 ต.ค 67 - เม.ย.68) สามารถตรวจยึดจับกุมยาไอซ์ได้ 4,084 กก. เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 8,068 หรือ 80 เท่า เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กลไกการขับเคลื่อน นบ.ยส. 24 ในส่วนด่านสกัดกั้นและปราบปราม ได้ร่วมกับส่วนราชการภายในจังหวัด ทั้ง 20 จังหวัด ขับเคลื่อน 6 มาตรการตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่
1) มาตรการสกัดกั้น
2) มาตรการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
3)มาตรการบูรณาการ
4)มาตรการปราบปราม
5)มาตรการป้องกัน
6)มาตรการบำบัดรักษา
โดยผลการดำเนินงานการคัดกรอง Re X-ray ประชากรกลุ่ม ทร.14 จำนวน 551,645 คน ซึ่งเป็นประชากรอายุ 12 - 65 ปี ที่อาศัยอยู่จริง จำนวน 327,432 คน พบการคัดกรองสะสมจำนวน 275,483 คน คิดเป็นร้อยละ 84.13 พบผู้เสพยาเสพติดจำนวน 6,220 คน คิดเป็นร้อยละ 2.25 และไม่พบผู้เสพจำนวน 269,263 คน คิดเป็นร้อยละ 97.75
ด้านเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวถึงการสนับสนุน นบ.ยส.24 ว่า สถานการณ์การสกัดกั้นยาเสพติดที่ดำเนินการอย่างเข้มข้น สามารถจับกุมผู้กระทำผิดตามแนวชายแดนได้อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของมาตรการสกัดกั้นยาเสพติด สำหรับสถานการณ์ผู้ป่วยจิตเวชจากการใช้ยาเสพติด พบว่าในปีงบประมาณ 2567 มีรายงานข่าว จำนวน 670 ข่าว ขณะที่ในปีงบประมาณ 2568 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568) มีรายงานข่าวเพียง 87 ข่าว เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างสองปีดังกล่าว พบว่า มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด และสิ่งสำคัญของมาตรการสกัดกั้นยาเสพติดที่เข้มข้น จากการสอบถามในพื้นที่แนวชายแดน พบว่ายาเสพติด โดยเฉพาะ “ยาบ้า” มีราคาสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (อยู่ที่เม็ดละ 40-100 บาท) และหาซื้อได้ยากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์ของการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติดที่ดำเนินการต่อเนื่องและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภายหลังรับฟังผลการสรุปสถานการณ์การแก้ไขปัญหายาเสพติดข้ามแดนในพื้นที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่บูรณาการความร่วมมือ ป้องกัน สกัดกั้น และปราบปรามอย่างจริงจัง จนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งวัดจากหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องราคายาเสพติด
“จากเมื่อตอนลงพื้นที่หาเสียงเมื่อสองปีที่แล้ว พบว่าราคายาบ้า มีราคาเม็ดละ 5 - 20 บาท ถือเป็นราคาที่ถูกมาก และจากที่รับฟังรายงานจากเลขาธิการ ปปส. ระบุว่าราคายาบ้าตอนนี้ อยู่ที่ 40 -100 บาทต่อเม็ด ถือว่าเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นจากเดิม และหาซื้อยากขึ้น ผลลัพธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหานี้” นายกรัฐมนตรี ระบุ
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จากการได้หารือกับผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทราบว่าการขนส่งมีหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น ขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือในเรื่องนี้ รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดหาอุปกรณ์เสริมที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพสำหรับการตรวจเอ็กซเรย์และสแกน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและสกัดกั้น ไม่ให้ยาเสพติดเล็ดลอดเข้าสู่ชุมชน
“สิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่กันไป คือด้านการศึกษา เนื่องจากปัจจุบัน ยาเสพติดมีรูปแบบแปลกใหม่ ทำให้เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เยาวชนเกิดความอยากทดลอง ดังนั้น สถาบันการศึกษาต่าง ๆ จำเป็นต้องปลูกฝังเรื่องความร้ายแรงของยาเสพติด และต้องขยายผลให้เยาวชนทราบอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานให้โอกาสให้แก่ผู้ติดยาเสพติด (ผู้ป่วย) เพื่อให้สามารถกลับคืนเข้าสู่สังคมได้ เพราะทุกคนต้องการโอกาส ไม่ว่าจะพลาดน้อยหรือมาก ส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ดูในเรื่องของการบำบัดรักษาและดูแล ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการอบรมเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในด้านนี้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการรับมือกับผู้เสพยาเสพติด ทั้งในด้านการสร้างความอดทน การให้กำลังใจ และการพัฒนาทักษะการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม” นายกรัฐมนตรี ย้ำ