นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 พ.ย. เห็นชอบพิธีสารอนุวัติ (เอกสารให้ดำเนินการตาม) ข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าการบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และจะนำเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ เนื่องจากเข้าข่ายมาตรา 178 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ครม.มีมติเห็นชอบพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามแล้ว และตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารฯ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา แล้วเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันต่อไป
อีกทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำและมอบสัตยาบันสารหรือสารของพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 8 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน และตารางข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ซึ่งเป็นภาคผนวกแนบท้ายพิธีสารฯ ให้แก่เลขาธิการอาเซียน เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบพิธีสารและตารางข้อผู้พันดังกล่าวแล้ว
สำหรับสาระสำคัญของเรื่อง
1. ร่างพิธีสารฯ ฉบับที่ 8 มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับพิธีสารฯ ฉบับที่ 7 ที่ประเทศไทยได้ลงนามไปแล้ว กล่าวคือเป็นการขยายความร่วมมือด้านการค้าบริการระหว่างประเทศสมาชิก โดยลดหรือยกเลิกข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าบริการภายใต้กรอบอาเซียนให้มากกว่าที่เปิดเสรีตามกรอบองค์การการค้าโลกและประเทศสมาชิกจะให้สิทธิประโยชน์ตามตารางข้อผูกพันฯ แก่ประเทศสมาชิกอื่น ตามหลักการให้การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favored Nation Treatment: MFN) รวมถึงการดำเนินการภายใต้กรอบการรวมตัวภาคการธนาคารของอาเซียน (ASEAN Banking Integration Framework: ABIF) ที่ระบุให้ประเทศสมาชิกตั้งแต่สองประเทศหรือมากกว่านั้นอาจดำเนินการเจรจาและตกลงเปิดเสรีสาขาการธนาคารของประเทศตน โดยแต่ละประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการเจรจาอาจสรุปผลการเจรจา ณ เวลาใดก็ได้
2. ตารางข้อผูกพันฯ ฉบับที่ 8 ของไทยที่แนบท้ายร่างพิธีสารฯ เป็นการปรับปรุงตารางข้อผูกพันฯ ดังนี้
ทั้งนี้ ในเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า QABs เป็นหนึ่งในแผนงานการรวมตัวภาคการเงินภายใต้กรอบอาเซียน ผ่านการเจรจาเปิดเสรีแบบทวิภาคี
(Bilateral Negotiation) เพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ในการจัดตั้งและประกอบธุรกิจธนาคารระหว่างสองประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในอาเซียนยังมีช่องทางค่อนข้างจำกัด และไม่ได้มีการให้ใบอนุญาตเป็นการทั่วไป รวมถึงอาจมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติอีกด้วย
การเจรจาจัดตั้ง QABs ภายใต้กรอบอาเซียนจะช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีความพร้อมและมีแผนที่จะขยายธุรกิจออกไปในอาเซียน โดย QABs จะมีบทบาทในการสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงให้บริการแรงงานที่จะมีการเคลื่อนย้ายในภูมิภาคมากขึ้น เช่น การโอนเงินกลับประเทศ
นอกจากนี้ การอนุญาตให้ QABs จากประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพมาจัดตั้งเพิ่มเติมในไทยจะเป็นแรงผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ยกระดับการให้บริการ ลดต้นทุนดำเนินงาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ QABs จะมีส่วนช่วยให้เกิด
การรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน และบรรลุเป้าหมายที่จะสร้างตลาดและฐานการผลิตร่วมในภูมิภาคเกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานที่มีฝีมือ ได้อย่างเสรียิ่งขึ้น
โดยนับตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา ทางการไทยได้เจรจากับ QABs กับประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ราย ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมา