ไม่พบผลการค้นหา
ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง "วัฒนา เมืองสุข" คดีตามหมุดคณะราษฎร์ ระบุเป็นการแสดงความคิดเห็นตามเสรีภาพทางวิชาการ และติชมเจ้าหน้าที่รัฐโดยสุจริต

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3158/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 

กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 17 เม.ย. - 30 พ.ค. 2560 จำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กชื่อ Watana Muangsook เรื่องหมุดที่หายไปสมบัติของชาติ ใจความว่า รู้สึกสังเวชใจในพฤติกรรมของรอง ผบ.ตร.ท่านหนึ่ง ที่ออกมาถามนิสิตนักศึกษาที่ไปแจ้งความกับ สน.ดุสิตเพื่อให้ติดตามหมดของคณะราษฎร์ที่หายไปว่า เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ผมขอตอบแทนว่า หมุดคณะราษฎร์เป็นสังหาริมทรัพย์ เป็นของโบราณที่ประดิษฐ์ขึ้นเป็นประโยชน์ในทางประวัติศาสตร์ เป็นสัญญลักษณ์ของการอภิวัฒน์สยามเมื่อปี พ.ศ.2475 ถือเป็นโบราณวัตถุตาม มาตรา 4 พ.ร.บ.โบราณสถานฯ พ.ศ.2504 หมุดดังกล่าวจึงเป็นสมบัติของชาติ การที่หมุดคณะราษฎร์ดังกล่าวสูญหายไปผู้ที่เก็บหรือเบียดบังเอาเป็นของตนเองหรือผู้อื่น มีความผิดตามมาตรา 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 7 แสนบาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงควรจะขอบคุณนิสิตนักศึกษา ที่ใส่ใจติดตามเอาสมบัติของชาติคืนมา ส่วนรัฐบาลที่กินเงินเดือนภาษีอากรของประชาชนต่างหากที่สมควรถูกประณาม แต่กลับไม่มีปัญญารักษาไว้ แบบนี้โบราณเรียก เลี้ยงไว้เสียข้าวสุกและข้อความอื่นๆ

โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3,14,16/1ฯลฯ โดยจำเลยให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดีมาโดยตลอด

ศาลพิเคราะห์คำเบิกความและพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายที่นำสืบหักล้างกันแล้วเห็นว่า จำเลยโพสต์ข้อความเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการด้านกฎหมายเท่านั้น จึงไม่เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ รวมทั้งจำเลยได้ตำหนิติชมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเปรยการบริหารราชการแผ่นดินอย่างตรงไปตรงมาโดยสุจริตตามที่จำเลยแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ย่อมเป็นเสรีภาพของบุคคลที่ย่อมแสดงความคิดเห็นตามระบอบการปกครองประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยได้ยุยง ปลุกปั่นชักชวนให้ประชาชนตื่นตระหนกออกมาชุมนุมก่อความวุ่นวายกระทบหรือกระด้างกระเดื่องต่อความมั่นคงของรัฐ

ดังนั้นการแสดงความคิดเห็นของจำเลย จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นตามเสรีภาพ ทางวิชาการ และเป็นการติชมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 34 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง