ไม่พบผลการค้นหา
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า เศรษฐกิจไทยป่วยหนัก  เมื่อเจอไวรัสโคโรนาระบาดจากจีน และอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กพาดหัวข่าวว่า Thailand's Economy Was Already Sickening ซึ่งแปลว่า “เศรษฐกิจไทยก็ป่วยอยู่แล้ว” โดยระบุว่า ไทยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนามากที่สุด รองจากจีน ซึ่งเป็นประเทศต้นตอโรคระบาด มาตรการจำกัดนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ของไทย ผลกระทบที่มีต่อนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย จากเดิมที่เศรษฐกิจไทยก็ป่วยอยู่แล้ว

ก่อนจะมีการระบาดของไวรัสโคโรนา เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการส่งออกขนาด 5 แสนล้านดอลลาร์ และใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย ก็ย่ำแย่อยู่แล้ว เป็นผลมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และค่าเงินบาทแข็ง

เศรษฐกิจไทยโตช้าตามหลังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่ความวุ่นวายทางการเมืองเป็นปัจจัยหลัก ไทยก็ยังเผชิญอุปสรรคอีกหลายด้าน ทั้งประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้น ผลิตภาพที่ย่ำแย่ การบริโภคที่ไม่กระเตื้อง และหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าจีดีพีประเทศจะเติบโตร้อยละ 2.5 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่เศรษฐกิจก็ไม่โตหวือหวาอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย และถือเป็นปีที่มีการเติบโตน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นปีที่มีการรัฐประหาร

การส่งออกของไทยในปี 2019 ก็ลดลง เนื่องจากการการส่งออกในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ลดลง โดยไทยเป็นฮับสำหรับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ เช่น บริษัทนิสสัน มอเตอร์ที่ได้รับผลกระทบจากแรงซื้อที่ต่ำลงในตลาดหลักอย่างจีน

ช่วงปี 2019 ค่าเงินบาทแข็งขึ้นอย่างมาก แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพยายามออกมาตรการมาควบคุมไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป ข้อดีเพียงไม่กี่ข้อจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาก็คือการที่ค่าเงินบาทอ่อนลงเล็กน้อย 

ขณะเดียวกัน งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น งบประมาณสำหรับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็ยังต้องถกเถียงกันในร่างงบประมาณปี 2020 อัตราดอกเบี้ยก็ถูกลดลงมาเหลือร้อยละ 1 ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

ไทยแถลงว่าไตรมาส 3 เศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 จากไตรมาสที่ 2 นักวิเคราะห์ยังบอกว่า ตัวเลขของไตรมาส 4 อาจเข้าสู่แดนลบ หากเศรษฐกิจไทยเติบโตติดลบอีกก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถอดถอย

ปัจจัยหลักก็คือ การท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของจีดีพีประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยก็น้อยลงแล้วจากค่าเงินบาทแข็ง นักท่องเที่ยวจีนที่ควรจะกลับมาเที่ยวไทยอีกครั้ง หลังอุบัติเหตุเรือล่มในปี 2018 จึงเลือกไปประเทศอื่นที่ถูกกว่าไทย มาตรการปิดเมืองของจีนจึงน่าเจ็บปวดมาก 

กระทรวงพาณิชย์ของไทยเตือนว่า ไวรัสโคโรนาและการแบนการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ะระบาดอาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจถึง 3 เดือน โดยประเมินว่าอาจมีนักท่องเที่ยวมาไทยลดลงถึง 400,000 คน โดยเฉพาะชาวจีน

สำหรับไทย นี่ไม่ใช่แค่การทำลายฤดูท่องเที่ยวของไทยเท่านั้น ชาวจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดของไทย โดยปีที่แล้วมีชาวจีนมาเที่ยวไทยประมาณ 11 ล้านคน และชาวจีนยังใช้จ่ายต่อหัวมากกว่านักท่องเที่ยวชาติอื่นด้วย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2019 ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของค่าใช้จ่ายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้ทั้งหมด

ส่วนผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวชาติอื่น นักวิเคราะห์จากบริษัทซิตี้กรุ๊ป อิงค์ได้ลดการคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2020 ของไทยลงจาก ร้อยละ 6.5 เหลือร้อยละ 6 และยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ยากจะคำนวณ เช่น ผลกระทบจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำของจีนต่อภูมิภาคเอเชีย ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และต่แการค้า ซึ่งจะทำให้การบริโภคยิ่งลดลง

อย่างไรก็ตาม หากย้อนดูช่วง เมื่อปี 2003 ที่โรคซาร์สระบาดทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคตกต่ำมาก โดยเฉพาะฮ่องกง แต่หลังจากนั้นเศรษฐกิจก็ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ภายในเดือนส.ค. 2003 จำนวนนักท่องเที่ยวของฮ่องกงก็กลับมาเท่าช่วงก่อนซาร์สระบาดได้ หลังมีการนับกฎเกณฑ์ให้ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เดินทางเข้าฮ่องกงได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ จีนยังมีบทเรียนจากโรคซาร์ส ทำให้จีนจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาได้เร็วขึ้น มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ดีขึ้น และอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาก็ไม่ได้สูงเท่า แต่การคาดการณ์ขนาดของการแพร่ระบาดก็ยังทำได้ยาก

ขณะที่จีนและการท่องเที่ยวก็มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่ผ่านมา บวกกับภัยแล้ง และการผ่านงบประมาณล่าช้า ไม่สามารถนำมากระตุ้นเศรษฐกิจในยามที่อัตราดอกเบี้ยต่ำลง เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ตลาดหุ้นไทยก็ร่วงแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 จึงยากที่ไม่มองโลกในแง่ร้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง