ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลยูเครนออกมาขอโทษชาวญี่ปุ่น หลังจากที่ตนได้ใช้ภาพของอดีตสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ซึ่งเป็นจักรพรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บนวิดีโอต่อต้านระบอบฟาสซิสต์ ขึ้นมาคู่กันกับอดีตเผด็จการอย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ อดีตผู้นำนาซีเยอรมนี และ เบนิโต มุสโสลินี อดีตผู้นำฟาสซิสต์อิตาลี

ทางการยูเครนได้ลบพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะออกจากวิดีโอดังกล่าว หลังจากถูกรัฐบาลญี่ปุ่นกดดัน ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนตั้งแต่ช่วงต้นของสงคราม ทั้งการประกาศคว่ำบาตรรัสเซีย มอบเงินกู้ยืมจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) อีกทั้งรับผู้ลี้ภัยจากยูเครนอีกหลายร้อยคน

โยชิฮิโกะ อิโซซากิ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวว่า ญี่ปุ่นจะยังคงให้การสนับสนุนยูเครนต่อไป อย่างไรก็ดี การใช้พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ในวิดีโอต่อต้านระบอบฟาสซิสต์ของยูเครนเป็นเรื่องที่ “ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” ทั้งนี้ การลบพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเป็นความพยายมของรัฐบาลยูเครนที่จะไม่ทำให้ญี่ปุ่นดูแปลกแยกไปในฐานะพันธมิตรของสงครามต่อต้านรัสเซีย

วิดีโอดังกล่าวถูกโพสต์ลงบนทวิตเตอร์ของรัฐบาลยูเครนเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยการเรียกการรุกรานของรัสเซียว่าเป็น “ลัทธิรัสเซียร่วมสมัย” อีกทั้งยังมีการยกผู้นำในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองฝ่ายอักษะขึ้นมาพร้อมข้อความว่า “ลัทธิฟาสซิสต์และนาซีถูกกำจัดลงในปี 2488” 

ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองถูกนำทัพโดย ฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นเข้ารบในสงครามโลกครั้งที่สองภายใต้พระนามของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะ ผู้ที่ก่อนการพ่ายแพ้ของสงครามมีสถานะเป็นเทพเจ้าที่มีชีวิตของชาวญี่ปุ่นทั้งชาติ

สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเริ่มขึ้นครองพระราชสมบัติเมื่อปี 2469 ซึ่งตรงกันกับช่วงที่ญี่ปุ่นมีเกาหลีเป็นอาณานิคมของตนเอง พระองค์ครองราชย์มาตั้งแต่บัดนั้น ผ่านการเข้ายึดพื้นที่ต่างๆ ในภูมิภาคแปซิฟิกจนญี่ปุ่นขยายดินแดนของตนเองออกไปได้กว้างขวางมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของตนเอง ตลอดจนการทิ้งระเบิดโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ จนเป็นชนวนให้สหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง ยังผลมาถึงการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิจนญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้สงคราม

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ลัทธิคอมมิวนิสต์เริ่มขึ้นมาเรืองอำนาจแทนที่ลัทธินาซีและฟาสซิสต์ เพื่อกันลัทธิคอมมิวนิสต์ที่อาจแผ่ขยายจากโซเวียตเข้ามายังญี่ปุ่น สหรัฐฯ ที่เข้ามาครอบครองญี่ปุ่นจึงทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น และทำข้อตกลงที่จะให้สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะยังทรงครองบรรลังก์ดอกเบญมาศต่อไป ภายใต้เงื่อนไขว่าพระองค์ต้องประกาศสละสถานะความศักดิ์สิทธิ์ และยอมรับต่อประชาชาชาวญี่ปุ่นทั้งชาติว่าทรงเป็นเพียงแค่มนุษย์ธรรมดา สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่นเปลี่ยนสถานะจากเทพเจ้าบนดิน กลายมาเป็นศูนย์รวมใจของประชาชนชาวญี่ปุ่นทั้งชาตินับแต่นั้นเป็นต้นมา

นักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันว่า สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงมีทบาทในการกำหนดนโยบายการรุกรานประเทศต่างๆ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดี สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะเสด็จสวรรคตเมื่อปี 2532 ก่อนที่พระราชบุตรอย่าง สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะจะขึ้นครองราชย์ต่อ และสืบสานความพยายามในการรื้อฟื้นภาพลักษณ์สถาบันจักรพรรดิญี่ปุ่น และความสัมพันธ์ต่อชาติพันธมิตรโลกเสรี จนญี่ปุ่นกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศค่ายโลกเสรี ณ ปัจจุบันได้

“การใช้รูปฮิตเลอร์ มุสโสลินี และสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะในบริบทเดียวกันเป็นความไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” อิโซซากิระบุกับสื่อมวลชน “มันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างมาก” อย่างไรก็ดี รัฐบาลยูเครนได้ลบพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะออกจากวิดีโอ ก่อนทวีตข้อความถึงรัฐบาลญี่ปุ่นว่าตน “ขอโทษจากใจจริงจากการทำผิดพลาด” ก่อนกล่าวเสริมว่าตน “ไม่มีเจตนาในการโจมตีความเป็นมิตรของประชาชนชาวญี่ปุ่น”

ทั้งนี้ เซอร์กี คอร์ซุนสกี เอกอัคราชทูตยูเครนประจำญี่ปุ่นทวีตข้อความขอโทษประชาชนชาวญี่ปุ่นอีกครั้ง พร้อมระบุว่าผู้ทำวิดีโอดังกล่าว “ขาดความรู้ความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์” อย่างไรก็ดี ประชาชนชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งยังคงวิจารณ์ความผิดพลาดดังกล่าวของยูเครน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลถอนการช่วยเหลือยูเครนออก ก่อนย้ำว่า มันจะมีความเหมาะสมกว่ามากหากใช้รูปโตโจขณะถูกประหารด้วยการแขวนคอเมื่อปี 2491 จากข้อหาอาชญากรสงครามแทนพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิของชาวญี่ปุ่นทั้งชาติ


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/apr/26/ukraine-apologises-after-backlash-over-hirohito-image-in-anti-fascism-video?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR1wXAI6rezUHUuUlyn_oohmyBBYdImqXE3-BE6RekHifWP8jFFmwnq7drk

https://www.asahi.com/ajw/articles/14607709