คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่มี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มีการพิจารณาวาระปลดล็อกอาชีพสงวน ว่ามีอาชีพใดบ้าง ที่อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้หรือห้ามทำ ตามที่กรมการจัดหางานเป็นผู้เสนอ
ที่ประชุมเห็นชอบใน 3 ประเด็น คือ
1.งานที่ปลดล็อก
2.งานที่ปลดล็อกแบบมีเงื่อนไข
3.งานที่ต้องสงวนไว้อย่างเด็ดขาด
งานที่ปลดล็อก มีเพียง 1 งาน คือ กรรมกร ซึ่งต้องเป็นแรงงานที่มีใบอนุญาตตามกฎหมาย
งานปลดล็อกแบบมีเงื่อนไข คนต่างด้าวต้องอยู่ในสถานะลูกจ้างเท่านั้น มี 11 งาน เช่น กสิกรรม เลี้ยงสัตว์ ประมง ก่ออิฐ ช่างไม้ รวมไปถึงงานที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ คือ บัญชี วิศวกรและสถาปนิก มีเงื่อนไข คือ คนต่างด้าวต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามกฎหมายไทยก่อนขอรับใบอนุญาตทำงาน
งานที่ต้องสงวนไว้ ห้ามคนต่างด้าวทำ มี 28 งาน เป็นงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ไทย เช่น แกะสลักไม้ ทอผ้าด้วยมือ ทำเครื่องเขินเครื่องเงินต่างๆ และงานที่คำนึงถึงโอกาสในการประกอบอาชีพของคนไทย เช่น ขายทอดตลาด ตัดผมทำผม มัคคุเทศน์ รวมถึงงานขายของหน้าร้าน ที่มีการเรียกร้องให้ปลดล็อกก่อนหน้านี้ โดยสงวนว่า ต่างด้าวสามารถขายของหน้าร้านได้ แต่ต้องมีนายจ้างคนไทยกำกับดูแล ขนของ จัดของได้ แต่ห้ามรับหรือทอนเงิน เช่นเดียวกับ ร้านทำเล็บ คนต่างด้าวไม่สามารถตัดหรือตกแต่งเล็บได้ ทำได้เพียงเก็บกวาด หรือล้างมือล้างเท้าเท่านั้น
พลตำรวจเอก อดุลย์ ย้ำว่า หลังจากนี้ จะมีการนิยามให้ชัดเจนว่าในแต่ละอาชีพ แรงงานสามารถทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้
ด้านนายพิภูเอก สกุลหลิม ตัวแทนกลุ่มนายจ้างผู้ใช้แรงงานต่างด้าว แสดงความเห็นภายหลังจากที่ประชุมเห็นชอบ ไม่ปลดล็อกงานขายของหน้าร้าน ว่าในทางปฏิบัติ ไม่สามารถทำจริง เพราะการที่คนต่างด้าวทำได้เพียงแต่ขนของ ส่งของ แต่รับทอนเงินไม่ได้ อาจเกิดความล่าช้าในการทำงานและให้บริการลูกค้าที่มีจำนวนมากในแต่ละวัน พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาล กำหนดคำนิยามให้ชัดเจน ว่างานของคนต่างด้าวครอบคลุมถึงหน้าที่ใดบ้าง และอยากให้กรมการจัดหางาน ลงพื้นที่สำรวจว่าความต้องการแรงงานในกิจการต่างๆเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าว จะมีการลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดย พลตำรวจเอก อดุลย์ ย้ำว่า ในช่วง 1 เดือนแรกหลังบังคับใช้ จะเป็นการลงไปทำความเข้าใจกับผู้ประกอบกิจการ ส่วนเดือนที่ 2 จะเริ่มจับแรงงานที่ทำงานผิดประเภทและแรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต และเมื่อครบ 6 เดือน จะมีการประเมินผล ว่าการประกาศดังกล่าว มีความเหมาะสมหรือไม่ หรือต้องปรับแก้สิ่งใด
ทั้งนี้ การแก้ไขดังกล่าว ถือเป็นการแก้ไขรายละเอียดอาชีพสงวนคนต่างด้าวในรอบ 39 ปี หลังจากกระทรวงแรงงานบังคับใช้กฏหมาย ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่พ.ศ. 2522