หลายประเทศเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐานและทดลองเทคโนโลยี 5 จี กันแล้ว สำหรับประเทศไทยก็เริ่มมีพื้นที่ทดลองเรื่องนี้แล้วเช่นกัน เราไปติดตามความคืบหน้าของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกตัวนี้กัน
บริษัท เอสเค เทเลคอม หนึ่งในผู้ให้บริการด้านระบบโทรคมนาคมรายใหญ่ของเกาหลีใต้ เปิดให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 5G ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการเป็นชาติแรกของโลก ตั้งแต่คืนวันพุธที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นของกรุงโซล ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการ 2 วัน ที่ตั้งใจเปิดให้บริการระบบในวันศุกร์ที่ 5 เมษายนนี้
ก่อนหน้านี้ เอสเคเทเลคอม เปิดเผยว่า บริษัทติดตั้งสถานีโครงข่าย 5G มากกว่า 34,000 จุดทั่วประเทศแล้ว ตั้งเป้าภายในสิ้นปีนี้จะติดตั้งเพิ่มเป็น 70,000 จุด สัญญาณครอบคลุมย่านสำคัญทั่วประเทศ พร้อมระบุว่า เทคโนโลยี 5G จะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถการดาวน์โหลดข้อมูลได้เร็วกว่า 4G LTE มากถึง 20 เท่า เบื้องต้นประเมินว่าค่าบริการ 5G ในเกาหลีใต้จะอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,500 บาท
ในเวลาไล่เลี่ยกันบริษัท เวอไรซอน หนึ่งในผู้ให้บริการเครือข่ายด้านการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐ ก็ประกาศทดสอบระบบ 5จี เช่นกัน ที่เมืองชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ และที่เมืองมินนีแอโพลิส ในรัฐมินนิโซตาเมื่อวันพุธที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น
สำหรับประเทศไทย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ประกาศร่วมมือกับ CAT และ ทีโอที เปิดสนามทดสอบเทคโนโลยี 5G เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่ 5G จะเข้ามาผลักดันเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยพันธมิตรทั้ง 3 แห่ง จะนำทรัพยากร ความรู้และประสบการณ์มาแชร์ซึ่งกันและกัน รวมถึงศึกษาข้อจำกัด อุปสรรคในด้านเทคโนโลยี และระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ
การทดสอบครั้งนี้จะทำในสภาพแวดล้อมจริง บนพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามสแคร์วัน รวมถึงทดสอบทางไกล เชื่อมต่อสัญญาณไปยังพื้นที่ EEC มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีความชัดเจนในการประมูลคลื่น 5G แต่ดีแทคยังคงเดินหน้าทดสอบต่อไป โดยร่วมกับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งภาคเกษตรกรรม สาธารณสุข หรือระบบโลจิสติก
กสทช. ประเมินว่า หากไทยดำเนินการเรื่อง 5G ล่าช้า ประเทศจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจำนวนมาก พร้อมระบุว่า ในปี 2578 เทคโนโลยี 5G จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 2.3 ล้านล้านบาท เพราะยุค 5G จะส่งเสริมให้เกิดการใช้งานดาต้ามากขึ้นกว่าปัจจุบัน 30 – 50 เท่า ซึ่งค่าบริการต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะเป็นรายได้เข้ารัฐ
เทคโนโลยี 5G คือการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ที่เริ่มจากการเกิดขึ้นของ 1G เพื่อพูดคุยกันด้วยเสียงผ่านมือถือระบบอนาล็อก ยุค 2G เราสามารถส่งข้อความหากันได้
ส่วนยุค 3G เราสามารถเชื่อมต่อและเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ขณะที่ยุค 4G สิ่งที่แตกต่างจากอดีตคือ เราสามารถดูภาพและเสียงหรือหนังออนไลน์ได้แล้ว
และหาก 5G เกิดขึ้น สิ่งที่เราจะได้สัมผัสในแง่ของผู้บริโภคคือ ความเร็วของการใช้งานด้านดาต้าจะเร็วขึ้น 20 เท่า การดาวน์โหลดเกม หนังออนไลน์จะใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น แต่ 5G ทำได้มากกว่านั้น เพราะเราจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เกดขึ้นจริงในอนาคต เช่น รถยนต์ไร้คนขับ ที่ระบบต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว
การแพทย์ทางไกล ก็จะได้รับประโชยน์จากเทคโนโลยี ตั้งแต่การตรวจรักษาเบื้องต้น ไปจนถึงการการผ่าตัดทางไกล ซึ่งหากเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นและได้ใช้งานอย่างแพร่หลาย จะเรียกว่า 5G เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกก็ไม่ผิดไปจากข้อเท็จจริง