ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปวิตร มหาสารินันทน์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ในรายการ Wake Up News เมื่อเช้านี้ (16 พ.ค.61) หลังพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ แถลงว่าขณะนี้ กทม. จะยุติเข้าไปเกี่ยวกับการพัฒนาหอศิลป์ กทม. หลังมีข่าวว่า กทม. มีแนวคิดจะเข้ามาบริหารหอศิลป์แทนมูลนิธิ โดยนำหอศิลป์มาทำเป็น co-working space ขณะที่กลุ่มศิลปินไม่เห็นด้วย
โดย ผอ.หอศิลป์ กทม. ระบุว่า แม้ ผู้ว่าฯกทม. จะแถลงข่าวว่า กทม. จะยุติเข้าไปเกี่ยวกับการพัฒนาหอศิลป์ กทม. แต่เมื่อเปลี่ยนผู้ว่า กทม. ในปี 2564 ก็ค่อยว่ากันใหม่
ผอ.หอศิลป์ เผยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว สภากทม. ไม่อนุมัติงบเงินอุดหนุน 40 ล้าน บาท และมีการแปรญัตติให้เงินอุดหนุนก้อนนี้อยู่ที่ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว หากทาง หอศิลป์ ต้องการเงินอุดหนุนก็ต้องขอเป็นโครงการไป แต่ถึงขณะนี้ ซึ่งจะหมดปีงบประมาณแล้ว แต่ ทางหอศิลป์ ก็ยังไม่สามารถเบิกจ่ายเงินในโครงของปีนี้ได้แม้แต่โครงการเดียว
อีกกรณีที่ถูกมองเป็นเกมทางการเมือง คือ คณะกรรมการบริหารมูลนิธิหอศิลป์ชุดปัจจุบันที่ทำสัญญากับกทม. หมดวาระ 2 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาจากทางผู้ว่า กทม. ซึ่งทางนิตินัยคณะกรรมการบริหารมูลนิธิหอศิลป์ชุดปัจจุบันยังทำงานได้ แต่เมื่อไม่มีคณะกรรมการบริหารมูลนิธิ ทาง ผอ.หอศิลป์ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก และถ้าคณะกรรมการบริหารมูลนิธิหอศิลป์ชุดใหม่มีแนวทางการดำเนินงานต่างกันก็ยิ่งทำงานยาก
สำหรับทิศทางการดำเนินงานหอศิลป์ก็ยังดำเนินไปตามปกติ โครงการต่างๆ ที่สัญญาไว้ก็จะทำต่อ และวางแผนว่าจะร่วมงานกับหน่วยงานภายนอกหอศิลป์มากขึ้น ถึง กทม.ไม่ให้งบก็ทำต่อตามสัญญา แม้ตอนนี้จะมีปัญหาเรื่องงบอย่างร้ายแรง
สำหรับกรณี งานศิลป์ที่มีการจัดแสดง ทาง ผอ.หอศิลป์ย้ำจากรายงานและกระแสที่ออกไป กรณีกิจกรรมทางการเมืองล้วนๆ ไม่เกี่ยวข้องกับศิลปะเลย ทางหอศิลป์คงอนุญาตไม่ได้ แต่เป็นกิจกรรมเช่นอ่านกวี แสดงดนตรี ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองก็สามารถทำได้
''ผมว่างานศิลป์ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับการเมือง แม้กระทั้ง โขน รามเกียรติ์ ก็เป็นการเมือง''
ทางหอศิลป์ระบุ จะพยายามเป็นกลางที่สุด แม้คนทุกคนไม่เป็นกลาง แต่ทางหอศิลป์ก็จะทำให้เป็นพื้นที่ ที่เป็นกลางที่สุด ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธิก็มีหลายสี