สถาบันเอเชียศึกษา ร่วมกับศูนย์แม่โขงศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาวิชาการ “เลือกตั้ง 4.0 โซเชียลมีเดียกับการเมืองไทย”
ผศ.วิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดปรากฏการณ์ Swing Vote หรือการที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใด โดยเฉพาะในกลุ่ม First Time Voters ที่มีกว่า 7 ล้านคนที่ยังไม่ได้จงรักภักดีกับพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ และด้วยการที่กลุ่ม First Time Voters เป็นกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด ขณะเดียวกันก็เกิดปรากฏการณ์ปะทะกันระหว่าง 2 generation คือ generation ยุคใหม่ที่ต้องการส่งเสียงถึงความต้องการที่แท้จริง กับ generation ยุคเก่าที่มองว่ากลุ่มก้าวหน้าเป็นเรื่องของการไม่รักชาติ
แต่อย่างไรก็ตาม โซเชียลมีเดียถือว่าเป็นช่องทางสำคัญที่พรรคการเมืองขนาดเล็กสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านงบประมาณที่ไม่สามารถจัดทำป้ายหาเสียงจำนวนมากมาใช้แข่งขันกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้
นายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือ จอห์น พิธีกร และนักแสดงชื่อดัง ระบุว่า จากความอัดอั้นตันใจของคนรุ่นใหม่ ทั้งปัญหาทางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา social media จึงเป็นช่องทางให้คนรุ่นใหม่ใช้ส่งเสียงและแสดงความคิดเห็นในช่วงสถานการณ์ที่ไม่มีช่องทางใดใช้ได้ เป็นนวัตกรรมที่คนรุ่นใหม่ใช้เพื่อบ่งบอกและยืนยันว่าไม่ได้ถูกล้างสมอง และไม่ใช่ไม่สนใจการเมืองตามที่ถูกกล่าวหา
โซเชียลมีเดียจึงกำลังสร้างความกลัวให้เกิดขึ้นกับรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้โซเชียลมีเดีย จึงมีความพยายามเข้ามาควบคุมผ่านกฎหมายฉบับต่างๆ อย่างเช่นพ.ร.บ.ไซเบอร์ หรือเรื่อง single gateway ซึ่งเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้เชื่อว่าโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นช่องทางหนึ่งที่จะปลุกกระแสบางอย่างให้เกิดขึ้นในสังคมไทย