ผ้าบาติกโดยฝีมือคนไทยชายแดนใต้ นอกจากจะสวยงาม มีเอกลักษณ์และทันสมัยแล้ว ยังได้รับความสนใจจากตลาดสากล จนสร้างรายได้หมุนเวียนให้ชุมชนกว่า 10 ล้านบาท
แฟชั่นผ้าบาติกสีสวยสะดุดตา มาพร้อมลวดลายแปลกใหม่ มีเอกลักษณ์โดดเด่น ที่นำมาตัดเย็บป็นเสื้อผ้าชาย-หญิงที่ดูร่วมสมัย ฝีมือนักออกแบบชื่อดังที่ขนมาจัดแสดงในมินิแฟชั่นโชว์ งานแถลงข่าวโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
โครงการนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม บูรณาการร่วมกับภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและระดับพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่งนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ร่วมพัฒนาลายผ้าไทยร่วมสมัยใน 4 อำเภอ ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อยอย่างต่อเนื่องในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา จนได้ผลงานลายผ้าที่ทันสมัยและมีเอกลักษณ์จากชุมชน 24 แห่ง รวม 24 ลาย ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภูมิปัญญาท้องถิ่น
และจากข้อมูลการพัฒนาลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ พบว่า การต่อยอดพัฒนาลายผ้าสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเพิ่มมากขึ้นกว่า ร้อยละ 25 มีเงินหมุนเวียนเพิ่มมากกว่า 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันได้ขยายตลาดผ้าไทยไปสู่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ ซึ่งนำไปตัดเย็บและดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ผ้าพันคอ กระเป๋า รองเท้า รวมถึงดีไซน์เนอร์ชาวญี่ปุ่นยังนำทำชุดกิโมโน ถือเป็นการยกระดับสู่สากล ทำให้ผ้าบาติกโดยฝีมือคนไทยให้เป็นที่รู้จัก พร้อมกำหนดแผนในปี 2562 จะเชิญนักออกแบบต่างประเทศมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลวดลายผ้าและเครื่องแต่งกาย และร่วมงานกับกลุ่มอาเซียนมากยิ่งขึ้น โครงการนี้ถือเป็นโมเดลในการทำงานของดีไซเนอร์กับกลุ่มท้องถิ่น โดยใช้แก่นวัฒนธรรมพัฒนาลายผ้าไทยให้ร่วมสมัย และเดินหน้าร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมไปยังตลาดระดับนานาชาติต่อไป
ทั้งนี้ สศร. จะจัดนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบผลิตภัณฑ์จากลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ ในวันที่ 29 สิงหาคม - 2 กันยายนนี้ (61) ที่ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และนำผ้าที่ได้รับการพัฒนาไปจัดแฟชั่นโชว์ Contemporary Southern Batic By OCAC ในงาน ELLE Fashion week 2018 ในวันที่ 2 กันยายนนี้ด้วย