หลายครั้งที่รายการเราพูดถึง FAANG กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีแถวหน้าของโลก 5 บริษัท และความเป็นไปได้ที่กลุ่มดังกล่าวจะมี S มาต่อท้ายเป็น FAANGS ก็ยังมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทสตรีมมิงจากยุโรปอย่าง 'สปอติฟาย' จะวางกลยุทธ์การเติบโตได้ดีพอหรือไม่เท่านั้น
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว อเล็กซ์ เว็บบ์ คอลัมนิสต์อิสระด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสื่อของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ออกมาให้ความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเติบโตของผู้ให้บริการสตรีมมิงดนตรีชื่อดังสัญชาติสวีเดนอย่าง 'สปอติฟาย' ไว้ว่า สปอติฟายต้องการเติบโตให้เท่าทันและเป็นกลุ่มเดียวกับ FAANG ซึ่งคือการเรียกรวมกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีแถวหน้าของโลก เฟซบุ๊ก - แอปเปิล - แอมะซอน - เน็ตฟลิกซ์ - และกูเกิล แต่ยังคงเป็นผู้เล่นที่ 'เต้นวอลซ์' อยู่ท่ามกลางจังหวะดนตรีที่สนุกสนานครึกครื้น หรือก็คือยังเติบโตได้ช้ากว่าที่นักลงทุนคาดหวัง แม้ว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง และมีแนวโน้มตลาดที่สดใสก็ตาม
สปอติฟายเพิ่งออกมาประกาศลดระดับเป้าหมายปลายปีสำหรับจำนวนผู้ใช้ต่อเดือนลงจากเดิม และตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้แบบจ่ายค่าสมาชิกในช่วงปิดไตรมาสที่ 4 ปีนี้ที่ 93 ถึง 96 ล้านยูสเซอร์เท่านั้น ปรับลงจากเป้าหมายเดิมที่ 97 ล้านยูสเซอร์ โดยที่ปัจจุบัน สปอติฟายมีผู้ใช้แบบจ่ายค่าสมาชิก 87 ล้านยูสเซอร์ ซึ่งหลังจากการประกาศดังกล่าวก็ทำให้นักลงทุนสูญเสียความมั่นใจในบริษัท จนราคาหุ้นปรับตัวลดลงถึง 11% และปัจจุบันยังมีราคาซื้อขายในระดับเดียวกลับเมื่อครั้งที่เปิดขายต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน เท่ากับว่าสปอติฟายกำลังกลับไปสู่จุดเริ่มต้นการเข้าตลาด หลังจากประสบความสำเร็จอย่างมากเมื่อช่วงกลางปี
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน ราคาหุ้นของสปอติฟายอยู่ที่ 132 ดอลลาร์ หรือ 4,300 บาท และพุ่งขึ้นสูงที่สุดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ 196.3 ดอลลาร์ หรือ 6,400 บาท และยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับราคานั้น จนกระทั่งมาปรับตัวลงต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นมา และเข้าสู่ระดับเดียวกับราคาเข้าตลาดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ก่อนการประกาศปรับลดเป้าหมายจำนวนผู้ใช้สุทธิปี 2018 และเพิ่มระยะห่างของการจะเข้าไปเป็น 'ตัว S' ต่อท้ายคำว่า FAANG ยิ่งขึ้นจากเดิม โดยหลังจากนี้ เว็บบ์ มองว่าสปอติฟายต้องโน้มน้าวนักลงทุนให้ได้ว่า บริการสตรีม 'คอนเทนต์สำหรับฟัง' ของตนนั้น เทียบเท่ากับบริการสตรีม 'คอนเทนต์สำหรับดู' อย่าง เน็ตฟลิกซ์
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่จะละเลยไปไม่ได้ก็คือ นักลงทุนในตลาดกลุ่มเทคโนโลยีคุ้นเคยกับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของบริษัท หรือก็คือการเติบโตเกินจากที่คาดการณ์ไว้มาก ๆ ทำให้การเติบโตของสปอติฟาย ที่ในไตรมาสที่ 3 ปีนี้ รายได้เติบโตขึ้น 31% ดูเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว และในโลกเทคโนโลยีโดยรวมนั้น การทำได้ 'พอประมาณ' หรือ 'ดีปานกลาง' ก็แทบจะเป็นเหตุผลให้นักลงทุน 'เมิน' แล้ว
สิ่งที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับสปอติฟายที่สุด คือ รายได้เฉลี่ยต่อยูสเซอร์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ที่ปัจจุบันปรับตัวลงต่ำกว่า 5 ยูโร มาอยู่ที่ 4.73 ยูโร หรือ 5.40 ดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 177 บาท ลดลงจากรายได้เฉลี่ยต่อยูสเซอร์สูงที่สุดที่เคยทำได้ ช่วงปี 2016 ที่ 6.67 ยูโร หรือ 250 อยู่มาก ซึ่งสาเหตุหลักมาจากเทรนด์การให้ความสำคัญต่อการสมัครสมาชิกแบบครอบครัวและแบบนักเรียนนักศึกษา ที่มีส่วนลด ทำให้บริษัทมีรายได้ลดลงตามไปด้วย และแม้การลดลงนี้จะไม่มากนัก แต่ก็เป็นจุดที่น่าเป็นห่วง สำหรับบริษัทที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโตเช่นนี้
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อบลูมเบิร์กสัมภาษณ์ แดเนียล เอ็ก และแบร์รี แม็กคาร์ที ซีอีโอและซีเอฟโอของสปอติฟาย เพื่อให้ทั้งสองได้ชี้แจงสถานะของบริษัท และให้ความมั่นใจว่าที่สุดแล้ว บริษัทจะเติบโตได้อย่างมั่นคง แต่คำตอบของทั้งคู่ก็ยังไม่ชัดเจนพอ โดยเมื่อถูกถามว่า 'นักลงทุนควรคิดอย่างไรต่อการที่สปอติฟายไปลงทุนในคอนเทนต์พ็อดแคสต์' ก็ได้รับคำตอบว่า 'ยังเร็วเกินไปที่จะชี้ชัด เพราะยังไม่รู้ว่าตลาดพ็อดแคสต์จะพัฒนาไปในทิศทางใด' ขณะที่เมื่อถูกถามว่า 'ฟีเจอร์โฆษณาใหม่กระทบต่อเอ็นเกจเมนต์ผู้ใช้หรือไม่' ก็ได้รับคำตอบว่า 'ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ' เช่นกัน
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน แม็กคาร์ที ซีเอฟโอของบริษัท เคยกล่าวในที่ประชุมว่าปัจจุบันมีสมาร์ตโฟนราว 1,300 ล้านเครื่อง ใน 65 ประเทศทั่วโลกที่มีสปอติฟายให้บริการ และมีเครื่องที่เปิดบัญชีผู้ใช้สปอติฟาย 13 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด ซึ่งเบื้องต้นมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2021 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จำนวนสมาร์ตโฟนในกลุ่มตลาดนี้จะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1,700 ล้านเครื่อง เท่ากับว่าสปอติฟายยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก หลังจากนี้ จึงขึ้นอยู่กับว่าสปอติฟายจะ 'จับจังหวะ' ของตลาดได้แม่นยำแค่ไหน และจะ 'เร่งจังหวะการเต้นรำ' ของตัวเองได้สำเร็จหรือไม่ก็เท่านั้น