“อ.วิโรจน์-อ.พิชญ์” มองภาพ “อุตตม” เพิ่งลงพื้นที่ดูการรับเรื่องร้องเรียนปมจ่ายเงินชดเชยให้ประชาชน “วันสุดท้าย”
2 นักวิเคราะห์มองต่าง! “อ.พิชญ์” ตั้งข้อสังเกต “ว่างจากตำแหน่งในพรรค” แต่ “อ.วิโรจน์” มองว่าถูกกระทุ้งและต้องการรักษาเก้าอี้ จึงต้องออกมาให้ประชาชนเห็นแถมประเมินไปถึงหัวหน้ารัฐบาล บริหารไม่เป็น ปล่อย รมต.ทำงานไปคนละทาง
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจประชาชนที่มายื่นขอทบทวนสิทธิในวันนี้ (15 พ.ค.63) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของศูนย์ฯ โดยระบุว่า วันนี้มีจำนวนค่อนข้างมาก อย่างน้อยๆ ก็จะมีราว 7-8 พันคน ส่วนตัวยืนยันว่านโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล จะดูแลให้ครบทุกกลุ่มครอบคลุมให้มากที่สุด ดังนั้น หากมีเรื่องใดที่ตรงกับทางกระทรวงการคลังดูแล เช่น อาชีพอิสระก็จะดำเนินการให้ทันที แต่มีบางเรื่อง ที่เป็นกระทรวงอื่นหรือหน่วยงานอื่นดูแลอยู่ กระทรวงฯ จะดำเนินการจัดกลุ่มและส่งเรื่องร้องทุกข์เหล่านี้ ประสานไปกระทรวง หรือหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง
ส่วนการขยายเวลารับเรื่องร้องทุกข์ ตั้งแต่วันที่ 18 - 29 พ.ค. นี้ จะเปิดรับร้องทุกข์และสอบถามข้อมูลได้ที่ธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคาร ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศในวันและเวลาราชการ เนื่องจากพบว่า เรื่องร้องทุกข์ส่วนใหญ่ที่มายื่นนั้นเป็นเรื่องที่ ลงทะเบียนแล้วแต่เงินเข้าบัญชียังติดขัด ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการเปิดบัญชีหรือเปิดพร้อมเพย์ยังไม่เรียบร้อย และหากมีเรื่องอื่นๆ อีกก็สามารถร้องทุกข์ฝากไว้ที่ธนาคารได้ ยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งกัน
ทั้งนี้ หากดูจากข้อมูลแล้วจะมีผู้ถูกตัดสิทธิหรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ล่าสุดนี้มีคนที่ได้รับสิทธิกว่า 14 ล้านคน และการจ่ายเงินก็ทยอยจ่ายไปกว่า 10 ล้านคนแล้ว อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จจำนวน 1.7 ล้านคน จะช่วยเหลืออย่างไรนั้นยืนยันว่าจะดูแลเป็นกรณีๆ ว่า ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จด้วยเหตุอะไร ส่วนจะมีสิทธิได้รับ 5,000 บาท หรือไม่ก็ต้องดูเป็นกรณีๆ ไป ยืนยันหากเข้าเกณฑ์ก็ได้รับเงินเยียวยาแน่นอน
นายอุตตม กล่าวอีกว่า หากแนวโน้มหากสถานการณ์ดีขึ้นจะมีการจ่ายเพิ่มใน เดือนที่ 4, 5, 6 หรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ และเป็นเรื่องซึ่งจะต้องติดตามดู เพราะรัฐบาลจะเป็นผู้ดูแลและตัดสินใจว่าเป็นอย่างไร ต้องดูสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงไป
สำหรับงบประมาณที่ช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ณ วันนี้ทั้ง เกษตรกรและแรงงานอิสระ รวมวงเงินโดยประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 แสนล้าน ต้องเก็บไว้ก่อนเพื่อดูว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพราะ การเยียวยายังหมายรวมถึงภาคผู้ประกอบการด้วย
ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ย้ำมาตรการ “เยียวยาเกษตรกร” ว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)จะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกร รายละ 5,000 บาท รอบแรกในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ จำนวน 1 ล้านราย และดำเนินการโอนเงินให้เกษตรกรทุกวันๆ ละ 1 ล้านราย
วันนี้ ความคืบหน้าจาก ธ.ก.ส.จะเร่งโอนเงินเฉลี่ยวันละ 1 ล้านราย โดยจะกระจายการโอนเงินในทุกพื้นที่ ให้ครบทุกอำเภอ ทุกตำบล โดยล็อตแรกมีเกษตรกรที่เตรียมโอนเงิน 3.33 ล้านราย โดยในจำนวนนี้มีบัญชี ธ.ก.ส. จำนวน 3.21 ล้านราย
ส่วนอีก 1.24 แสนคนไม่มีบัญชี ธ.ก.ส. และได้มีการแจ้งรายละเอียดผ่าน www.เยียวยาเกษตรกร.com แล้ว 9 หมื่นคน ตรงนี้หากตรวจสอบว่าชื่อบัญชีและชื่อตัวตรงกันก็สามารถโอนเงินได้ทันที เหลืออีก 3.4 หมื่นคนยังไม่แจ้ง ก็อาจทำให้ยังไม่สามารถโอนเงินให้ได้ ดังนั้นอยากให้เกษตรกรแจ้งข้อมูลผ่านเว็บไซด์ที่เปิดไว้เพื่ออำนวยความสะดวกดังกล่าว
อีกทั้ง ได้รับแจ้งจากนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะนายทะเบียน ว่า ขณะนี้สำนักงบประมาณ ได้โอนงบประมาณให้ สศก. เรียบร้อยแล้วจำนวน 150,000 ล้านบาท ซึ่งกระแสในทวิตเตอร์เช้านี้ ได้เผยถึงการตรวจสอบและการโอนเงินดังกล่าวอย่างคึกคัก