ข้อสังเกตนักวิชาการต่อคำวินิจฉัย 2 ล้านล้าน และอำนาจศาล รธน.
ประเด็นการพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เป็นข้อความที่ระบุไว้ หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้พระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เกิดอุปสรรคอนาคตรถไฟความเร็วสูงโดยทันที
ก่อนหน้านี้ ศาลพยายามไต่สวนว่าเงินที่กู้จากพระราชบัญญัติฉบับนี้ เป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ โดยศาลเห็นว่าเป็นเงินแผ่นดิน จึงเข้าข่ายมาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้ การจ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้เฉพาะที่อนุญาตไว้ในกฎหมายงบประมาณที่เกี่ยวเนื่อง เว้นแต่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งศาลเห็นว่า เงินกู้นี้ ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด
เรื่องนี้ทำให้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ เป็นเผือกร้อนตีกลับศาลรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะการเปรียบเทียบ กับคำวินิจฉัยการกู้เงินในอดีตอย่างพระราชกำหนดไทยเข้มแข็งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ที่ทำได้ ทั้งที่มีรูปแบบใช้เงินคล้ายคลึงกัน รวมถึงการใช้อำนาจวินิจฉัยว่าการพัฒนาโครงสร้างนี้ยังไม่จำเป็นเร่งด่วน
หากพิจารณามาตรา 4 พระราชกำหนดไทยเข้มแข็ง ซึ่งระบุการใช้จ่ายเงินที่กู้มากับมาตรา 6 ในเงินกู้สองล้านล้าน พบว่า มีความคล้ายคลึงกัน แต่ครั้งนั้น ศาลไม่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 จึงแปลความได้ว่า ศาลให้สามารถตรากฎหมายอื่นได้ เพื่อกำหนดการจ่ายเงินแผ่นดินด้วยกฎหมายนั้นเอง ในกรณีรวมถึงการใช้จ่ายเงินขององค์กรที่มีกฎหมายเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่ต่างจากพระราชบัญญัติกู้เงินครั้งนี้
นอกจากนั้น นักวิชาการเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้นิยามความหมายใหม่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติ และทำให้การพิจารณาแต่ละคดีเกิดปัญหา ผิดไปจากหลักการถ่วงดุลอำนาจ ดังกรณีที่ศาลไม่อนุญาติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้สมาชิกวุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว
อำนาจตุลาการต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ แต่นักวิชาการเห็นว่า ศาลต้องมีข้อจำกัดในอำนาจของตัวเอง ซึ่งภาวะที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง และสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้องค์กรอื่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เอง ต้องคอยพะวง ขอความยินยอมจากศาล และถูกใช้ในทางการเมืองเกือบทุกเรื่อง