ในอดีต ประเทศไทยส่งสินค้าไปยุโรปผ่านทางทะเล แต่มีบทวิเคราะห์ ระบุว่า เศรษฐกิจในยุโรปจะไม่เติบโตมากกว่านี้ ดังนั้น ไทยต้องทำการค้ากับจีน เพราะมีศักยภาพการเติบโตสูง โดยเปลี่ยนการเชื่อมโยงด้วยระบบรางในโครงการ 2 ล้านล้านบาท
ไทยมีอุปสรรคด้านการพัฒนาประเทศ ผ่านการเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะการใช้ระบบรางเดี่ยว ที่มีความกว้างเพียง 1 เมตร ไม่สามารถเชื่อมต่อกับรางรถไฟของจีน ที่มีขนาด 1.435 เมตรได้ แต่ในแผน 2 ล้านล้านบาท เพิ่มการพัฒนาเป็นรางคู่ตามมาตรฐานจีน เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่ง ผ่านทางตะวันตกเฉียงใต้ ด้วยรถไฟความเร็วสูง
กูรูด้านเศรษฐกิจ ผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนสนามรบ ให้เป็นสนามการค้า อย่างนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ มองว่า วิธีการกู้เงินถูกตีตกไป อยู่ที่รัฐบาลจะหาแหล่งกู้ด้วยวิธีใด ตามหลักกฎหมายได้ แต่ในรายละเอียดโครงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดจะตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกไป และเปลี่ยนระบบรางคู่และรถไฟฟ้าในเมืองแทน นายพันศักดิ์ ไม่เห็นด้วย เพราะสิ่งที่เป็น Key Success ของประเทศในการเชื่อมต่อกับจีน คือ รถไฟความเร็วสูง
เมื่อไร้ "รถไฟความเร็วสูง" ทำให้ไทยเสียโอกาสหลายด้าน ไม่เพียงเม็ดเงินจากการลงทุน ยังรวมถึงการขนส่งสินค้าเกษตร และมูลค่าเพิ่มที่จะเกิดขึ้นจากบริการเสริมภายในสถานี "รถไฟความเร็วสูง" ที่หายไป
จึงไม่ใช่เรื่องขำขัน ที่รถไฟความเร็วสูงจะถูกใช้ในการขนส่งพืชผลทางการเกษตร เพราะในต่างประเทศทำแล้วได้ผล ด้วยการพัฒนาโบกี้รถไฟให้มีระบบทำความเย็น รองรับการขนส่งสินค้าเหล่านี้
ล่าสุด เอกชนผู้นำด้านการขนส่งระดับโลกอย่าง DHL เปิดตัวการขนส่งสินค้าทางรางจากประเทศจีนไปยุโรป โดยใช้เวลาเพียง 14 วัน ด้วยระบบควบคุมอุณหภูมิที่ล้ำสมัย
หากไทยไม่สามารถจัดหาแหล่งเงินกู้ใหม่ เพื่อเดินหน้า พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท อาจพลาดโอกาสในการเชื่อมต่อตลาดการค้ากับประเทศในเอเชียและยุโรปในระยะเวลาอันใกล้ ไม่ต้องเดาก็รู้ว่า ทิศทางของประเทศไทยจะอยู่มุมไหนของโลก