ศาลรธน.ไม่รับคำร้องรบ. ออกพรก.ฉุกเฉิน ผิดม.68
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 4 เรื่องสำคัญ ทั้งไม่รับคำร้องส.ส.ประชาธิปัตย์และส.ว.สรรหา กรณีรัฐบาลออกพ.ร.ก.ฉุกเฉินขัดต่อมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญ ในขณะเดียวกัน ก็เห็นว่าการชุมนุมประท้วงของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและคปท. เป็นสิทธิเสรีภาพ
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารข่าวผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการพิจารณาคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรคสอง ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ถูกร้อง ร่วมกระทำการเพื่อให้ได้ซึ่งอำนาจปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือไม่
จากกรณีการออกพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง เขตกทม.และปริมณฑล ระหว่างที่มีการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และการส่งสมาชิกพรรคเพื่อไทยลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องดังกล่าวยังไม่มีมูล ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา
ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติคำสั่งไม่รับคำร้องของ นายสิงห์ทอง บัวชุม ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มคปท. กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่
จากการชุมนุม ปิดล้อมสถานที่ราชการ และปิดถนน ขัดขวางการเลือกตั้ง ในขณะที่มีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการชุมนุมของประชาชนตามคำร้อง เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยมีเหตุผลมาจากการต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และความไม่ไว้วางใจรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน
ส่วนการกระทำใด ที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นๆ เป็นเรื่องที่ผู้รับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ต้องไปดำเนินการตามกฎหมาย จึงยังไม่มีมูลตามมาตรา 68
นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีมติอีก 2 เรื่อง คือ ให้นัดพยานสอบเพิ่ม เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ว่ามีความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยสั่งให้พยานผู้เชี่ยวชาญ 5 คน มาให้ถ้อยคำต่อศาลรัฐธรรมนูญเพิ่ม ประกอบด้วย ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้แทน นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี2550 นางสาวสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง นายทนง พิทยะ และ นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในวันพุธ ที่ 12 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 10.00 น.
นอกจากนี้ ยังมีมติให้จำหน่ายคำร้อง กรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ว่า สมาชิกภาพความเป็น ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากกระทรวงกลาโหม มีคำสั่งปลด ร้อยตรีอภิสิทธิ์ ออกจากราชการ
ซึ่งโดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากมีพระราชโองการโปรดฯเกล้าให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556 เป็นต้นไป ทำให้ความเป็นสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ สิ้นสุดลง จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะพิจารณาคดีต่อไป จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องดังกล่าว