รายงานพิเศษ "ย้อนรอยสมรภูมิรามคำแหง" ตอนที่ 2 : ความรุนแรงนี้ของใคร?
แม้ว่าแกนนำกลุ่ม นปช.ประกาศยุติชุมนุมที่ราชมังคลากีฬาสถาน และคนเสื้อแดงถอนตัวออกจากพื้นที่ทั้งหมด ของเช้าวันที่ 1 ธันวาคม แต่กลุ่มผู้ที่อ้างตนเองว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง พร้อมอาวุธ มีอาการคล้ายมึนเมา ยังคงปักหลักปิดถนนรามคำแหงทั้งเส้น
พบการนำทรัพย์สินของคนเสื้อแดงมาเผาทำลาย และปาระเบิดปิงปอง ปะทัดเป็นระยะๆ พร้อมกับการสร้างข่าวลือว่ามีคนเสื้อแดง และกลุ่มบุคคลที่พวกเขาจินตนาการกันไปเองว่าเป็น "กองกำลังเขมร" คอยลอบอยู่บนสะพานทางยกระดับหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง และบนตึกต่างๆ ทั้งที่จริงแล้วล้วนเกิดขึ้นจากการกระทำของพวกเขานั่นเอง
กระทั่งช่วงบ่าย ทหารจากกองทัพบกซึ่งไม่ได้ติดอาวุธ เข้าคุมพื้นที่และนำนักศึกษาที่ตกค้างอยู่ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหงออกจากพื้นที่ ขณะที่ฝั่งตรงข้ามชายฉกรรจ์ซึ่งอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนักศึกษา ก็ยังคงก่อเหตุเป็นระยะมีการเผารถบัสที่จอดอยู่ด้านหน้าราชมังคลากีฬาสถาน จนเสียหายย่อยยับ
ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าตรวจสอบความเสียหาย จึงพบกับโครงกระดูกมนุษย์ในห้องน้ำของรถบัส แต่ทว่าตลอดทั้งเย็นจนถึงดึกวันนั้น ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานคนใดกล้าเข้ามาตรวจสอบ เพราะกลุ่มชายฉกรรจ์ที่ยังคงปิดพื้นที่ลาดตระเวนหน้าถนนรามคำแหงไปทั่ว เป็นที่หวาดผวาไปตลอดทั้งคืนวันที่ 1 ธันวาคม
ฉากสุดท้ายของเหตุการณ์บนถนนรามคำแหง เกิดขึ้นกลางดึกของวันนั้น เมื่อกลุ่มชายฉกรรจ์ที่มีสภาพคล้ายมึนเมา นำรถตู้สองคัน ป้ายทะเบียนอุดรธานี ซึ่งถูกทุบทำลายอยู่หน้าซอยรามคำแหง 53 ตั้งแต่ช่วงเช้า เข็นมาเผาเล่นที่ด้านหน้าประตู 1 ของราชมังคลากีฬาสถานพร้อมเสียงโห่ร้องอย่างผู้มีชัย
จนกระทั่งเช้าวันที่ 2 ธันวาคม เมื่อเหตุการณ์เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ มีการเปิดถนนให้รถสามารถสัญจรได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองพิสูจน์หลักฐาน จึงเข้าตรวจสอบพื้นที่ปะทะและความเสียหายที่เกิดขึ้น จนได้ความชัดเจนว่าศพบนรถบัส คือนายสุรเดช คำแปงใจอายุ 17 ปี จากปากคำของเพื่อนผู้เสียชีวิต เล่าว่าเขาและนายสุรเดช ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์เขวี้ยงปาปะทัดใส่ ระหว่างขับรถจักรยานยนต์ออกมาซื้อข้าว จนต้องขึ้นไปหลบบนรถบัส และเมื่อรถบัสถูกเผา นายสุรเดชไม่สามารถหลบหนีลงมาได้พร้อมกับเขา จนถูกไฟคลอกเสียชีวิต
มาถึงจุดนี้ คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้น ว่าใคร? คือผู้ก่อความรุนแรงนี้ขึ้น และใครคือผู้ที่ควรต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ยังต้องรอการพิสูจน์และติดตามกันต่อไป
แต่อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่เราพอจะสามารถสรุปออกมาได้ จากข้อเท็จจริงเท่าที่มีการยืนยันตรงกันจากพยานและหลักฐานจากหลายฝ่ายในขณะนี้ คือข้อเท็จจริงที่ว่า ทั้งกลุ่มคนเสื้อแดงและผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ต่างก็มีการใช้ความรุนแรง และติดอาวุธในอัตราที่เสมอกัน เข้าห้ำหั่นกันในสมรภูมิรามคำแหงอย่างแน่นอน
แต่ข้อเท็จจริงที่มักมีการลืมพูดถึง หรือจงใจละเลยไม่พูดถึงกันในสื่อกระแสหลักเลย ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดอย่างโจ่งแจ้ง คือข้อเท็จจริงที่ว่ากลุ่มคนเสื้อแดง จัดการชุมนุมอยู่ภายในรั้วรอบขอบชิด โดยอาศัยเพียงเส้นทางรอบมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในการสัญจรผ่านไป-มาเท่านั้น และฝ่ายต่อต้านคนเสื้อแดงต่างหาก ที่ดักทำร้ายคนเสื้อแดงอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน
ข้อเท็จจริงประการต่อมา คือแกนนำของผู้ชุมนุมฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ที่อ้างตัวว่าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงบางส่วน ย่อมรู้แน่นอนว่ากลุ่มคนเสื้อแดง มาชุมนุมเพียงในราชมังคลากีฬาสถานเท่านั้น แต่พวกเขา ก็ยังจัดระดมพลใหญ่ต้านคนเสื้อแดง ในวันเดียวกันนี้ ซึ่งคำถามก็คือ การจัดเวทีชนกันในพื้นที่ใกล้เคียงเช่นนี้เป็นเจตนาที่จะให้มีการปะทะกันหรือไม่? ทั้งๆที่พื้นที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่แท้จริง อยู่บนถนนราชดำเนินต่างหาก
แน่นอนว่าในสถานการณ์ที่ความขัดแย้งทางการเมือง อยู่ในสภาวะที่เข้มข้นรุนแรงแบ่งออกเป็นฝักฝ่ายเช่นนี้ การเผชิญหน้าจากทั้งสองฝั่งหากเกิดขึ้น ย่อมเป็นความรุนแรงอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงไม่ให้ทั้งสองฝ่าย ต้องเผชิญหน้ากัน และนี่ก็เป็นสิ่งที่แกนนำ นปช. ได้พยายามทำแล้ว ด้วยการจัดชุมนุมแสดงพลังที่ราชมังคลากีฬาสถาน แทนที่จะเป็นบริเวณอื่นที่ใกล้เคียงกับเวทีราชดำเนิน เพื่อให้ได้แสดงออกทางการเมือง คัดค้านการชุมนุมของฝ่ายตรงข้าม โดยไม่จำเป็นต้องปะทะกัน
แต่คำถามก็คือ แล้วทำไมอีกฝั่งยังตามมาจัดเวทีที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงอีก หากไม่ใช่เจตนาเพื่อให้มีการปะทะกันเกิดขึ้น?
แน่นอนว่าความรุนแรง เกิดขึ้นจากทั้งสองฝั่งอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่คำถามสำคัญ คือใครกัน? ที่เป็นผู้ก่อชนวนของความรุนแรงเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมา? ใครคือผู้ที่อยู่ในที่ตั้งอย่างสงบ? และใครคือผู้ที่ตามมารังควาญการชุมนุมในที่ตั้งอย่างสงบนี้ จนเป็นเหตุให้พวกเขาทนไม่ได้ จนต้องจับอาวุธขึ้นมาตอบโต้บ้าง ไม่ยอมให้ถูกรังแกแต่เพียงฝ่ายเดียว?