รายการ Go Global ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2556
นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางไปเยือนญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในการชักชวนให้ญี่ปุ่นมาลงทุนเพิ่มมากขึ้นในไทยและในโครงการท่าเรือน้ำลึก ณ เมืองทวาย ของพม่า ในส่วนที่เกี่ยวกับไทยนั้น ไทยเชิญชวนให้ญี่ปุ่นลงทุนในโครงการดาวเทียมแซทเทิ้ลไลท์และในโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง ขณะที่นายกฯยิ่งลักษณ์ให้หลักประกันเรื่องการจัดการน้ำและการป้องกันน้ำท่วม ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อโรงงานของญี่ปุ่นในไทยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ นายกฯยิ่งลักษณ์ยังได้กล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมอนาคตแห่งเอเชียครั้งที่ 19 ที่ได้ย้ำถึงการแก้ไขปัญหาทางการเมืองเพื่อสร้างเสถียรภาพที่ยั่งยืนต่อทั้งไทยและภูมิภาค (ในช่วงท้ายมีการวิเคราะห์ถึงความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นในภาพรวมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา)
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ เป็นผู้นำญี่ปุ่นคนแรกที่เดินทางไปเยือนพม่าในรอบ 36 ปี เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ต่อกันหลังจากที่พม่าได้เปิดประเทศนับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2553 โดยญี่ปุ่นพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเงิน เพื่อฟื้นสภาพเศรษฐกิจพม่าให้มีการเติบโตที่ยั่งยืน ในระหว่างการเยือน ญี่ปุ่นพร้อมยกหนี้ที่พม่าติดค้างให้ทั้งหมดที่มีมูลค่า 5 ล้านล้านเยน นอกจากนี้ ยังให้เงินกู้ 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และเงินให้เปล่าอีก 4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ความร่วมมือไม่ได้มีอยู่แค่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีการส่งเสริมการกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง ความมั่นคงและวัฒนธรรมด้วย หลายฝ่ายมองว่า การเยือนครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เพื่อผลประโยชน์ของญี่ปุ่นทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เพื่อต้องการลดอิทธิพลของจีนในพม่าด้วย
นายมันโมฮัน ซิงห์ นายกรัฐมนตรีอินเดีย เยือนญี่ปุ่นเป็นครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 27-30 พฤษภาคม เพื่อหารือถึงความร่วมมือในด้านพลังงานนิวเคลียร์และค้นหาโอกาสการลงทุนที่เปิดให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาจับจองในอินเดีย ในปัจจุบัน อินเดียกำลังเร่งปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค จึงต้องการการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น การเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ของผู้นำอินเดียสะท้อนถึงความสัมพันธ์ทวิภาคีที่มีความแน่นแฟ้น รวมถึงความร่วมมือในกรอบพหุภาคีอื่นๆ อาทิ ในกรอบอาเซียน เป็นต้น ญี่ปุ่นต้องการความร่วมมือจากอินเดีย ส่วนหนึ่งเพื่อลดทอนอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้