รายการคิดเล่นเห็นต่างกับคำผกา วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2556
ความทรงจำเกี่ยวกับรถโรงเรียนที่เราเห็นบ่อยครั้งในภาพยนตร์ฮอลลีวูด จะมีรถสีเหลือง มาจอดรับนักเรียนหน้าบ้าน แต่เมืองไทยไม่มีเอกลักษณ์รถรับส่งนักเรียน ส่วนใหญ่ในต่างจังหวัด ผู้ที่ทำกิจการรถรับส่งนักเรียนจะเป็นครูสอนพลศึกษา ที่จะซื้อรถตู้ และเอาเด็กนักเรียนแถวบ้านขึ้นรถไปด้วย
ส่วนจังหวัดตามหัวเมืองเช่นเชียงใหม่ จะมีรถถีบสามล้อ ที่ทางผู้ปกครองจะจ้างรับส่งลูกหลาน หากมีบ้านไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก นอกจากนี้ยังมีรถตู้ ที่เป็นอาชีพเสริมของคุณครู คอยรับส่งนักเรียน ทำให้เด็กนักเรียนได้รู้จักบ้านเพื่อนแต่ละคน
สหรัฐอเมริกา ผู้ที่ดูแลรถรับส่งนักเรียนจะเป็นรัฐบาลท้องถิ่น ส่วนญี่ปุ่นจะไม่มีวัฒนธรรมรถโรงเรียน แต่เด็กนักเรียนญี่ปุ่น จะเดินกันเป็นกลุ่มๆ จูงมือกันเป็นคู่ๆ ซึ่งเด็กที่เรียน ป.1-ป.2 สามารถขึ้นรถไฟได้ด้วยตนเองซึ่งเป็นการฝึกเด็กให้รู้จักโหนรถเมล์ ขึ้นรถไฟ และที่นั่นจะไม่มีการลุกที่นั่งให้แก่เด็กๆ เพราะถือว่าเด็กนั้นแข็งแรงอยู่แล้วและเป็นการฝึกความอดทนให้กับเด็กๆด้วย
รถโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1827 ซึ่งตรงกับ รัชกาลที่ 2 จะเป็นรถม้า ที่บรรจุเด็กได้ 27 คนต่อมาในปี 1930 เริ่มมีสั่งทำรถรับส่งนักเรียน มีการทำผ้าม่านหน้าต่างในรูปแบบต่างๆขึ้น
จากเว็ปไซด์ของศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ( ศวปถ.) ได้รายงานโครงการศึกษาหาสาเหตุและแนวทางป้องกันอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนและการถอดบทเรียนรูปแบบการจัดบริการรถรับส่งนักเรียน ที่มี ผศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมขนส่ง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย เป็นหัวหน้าคณะผู้วิจัย ได้รวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน พบว่าช่วงที่เกิดอุบัติมักเป็นช่วงเย็นคือเวลา 15.00-17.00 น.ถึงร้อยละ 76 ส่วนช่วงเช้า 06.00-08.00 น. ร้อยละ 24 โดยกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ระหว่าง อายุ 6-12 ปีถึงร้อยละ 71 ส่วนระดับมัธยม มีถึงร้อยละ 29 ดังนั้นได้มีการผลักดันให้ออกกฎหมายจัดระเบียบรถโรงเรียนขึ้นมาว่าต้องใช้สีเหลืองคาดดำ แต่โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากโรงเรียนไม่อยากรับผิดชอบหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นและผู้ปกครองนักเรียนก็ไม่นิยมใช้รถโรงเรียน