ไม่พบผลการค้นหา
'ดีเจมะตูม' เข้ารับทราบข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​กรณีจัดงานปาร์ตี้​วันเกิดในโรงแรม​ จนมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 น้อมรับความผิดทุกอย่าง เผยตรวจหาเชื้อโควิด 2 ครั้งไม่พบเชื้อ ล่าสุด ศาลสั่งจำคุก 'ดีเจมะตูม' 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท หลังอัยการยื่นฟ้องละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่สารภาพลดโทษครึ่งหนึ่ง รอลงอาญา 1 ปี ต้องรายงานตัว 3 เดือนต่อครั้ง

เตชินท์ พลอยเพชร หรือดีเจมะตูม เข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีจัดงานปาร์ตี้​วันเกิดในโรงแรม​ จนมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รวม 24 ราย หลังตำรวจใช้เวลาสอบปากคำประมาณ ​30 นาที

เตชินท์​ เปิดเผยว่า วันนี้เข้าพบตำรวจตามหมายเรียก เบื้องต้นตนเองรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา​ในความผิด ฝ่าฝืน​ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน​ โดยในทางคดีทางทนายความ​ได้เตรียม​หลักฐาน​และข้อมูลมามอบให้พนักงานสอบสวนแล้ว ส่วนจะมีการเรียกบุคคล​ใดมาสอบปากคำเพิ่มเติม​อีกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจ​ของพนักงานสอบสวน

ส่วนตัวน้อมรับความผิดทุกอย่าง และครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ตนเองออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น และอยากขอโทษ​ทุกคนที่ถูกพาดพิงจากความประมาทเลินเล่อ​ของตัวเอง ซึ่งช่วงที่ผ่านมาถือว่าแย่ที่สุดในชีวิต แต่ก็ปฎิเส​ธไม่ได้เนื่องจากทุกอย่างเกิดจากกระทำของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพงที่สุด หลังจากนี้จะต้องระมัดระวัง​ตัวและมีสติกับการใช้ชีวิตมากขึ้น อีกทั้งขอขอบคุณ​ทุกกำลังใจที่ส่งมาให้จากหลายๆคน

ทั้งนี้ สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิค จำนวน 2 ครั้ง พบว่าผลตรวจเป็นลบ แต่ยังคงต้องปฎิบัติ​ตัวตามมาตร​าของทางกรมควบคุมโรคติดต่อ​อย่างเคร่งครัด​

ด้าน พิสิษฐ์ ชุติพรพงษ์ชัย ทนายความ ระบุว่า ดีเจมะตูมรับสารภาพ​ทุกข้อกล่าวหาและหลังจากนี้ทางพนักงานสอบสวนจะรวบรวม​พยานหลักฐาน​นำส่งพนักงาน​อัยการ เพื่อมีความเป็นส่งศาลพิจารณา​ ส่วนศาลจะมีคำพิพากษา​อย่างนั้น ทางดีเจมะตูม​พร้อมน้อมรับทุกกรณี​


ศาลสั่งจำคุก 1 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท

ที่ศาลแขวงพระนครใต้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องด้วยวาจา เตชินท์ พลอยเพชร หรือดีเจมะตูม อายุ 31 ปี ในฐานความผิดพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 4,5,7,9,18,19 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 ประกาศเรื่องการขยายระยะเวลาการกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาญาจักร (คราวที่1) ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563 ,ประกาศฯ(คราวที่2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ,ประกาศฯ(คราวที่3) ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2563 ,ประกาศฯ(คราวที่4) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2563,ประกาศฯ(คราวที่5) ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2563,ประกาศฯ(คราวที่6) ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2563 ประกาศฯ(คราวที่7) ลงวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2563 ,ประกาศฯ(คราวที่8) ลงวันที่ 23 พฤจิกายน พ.ศ.2563 ,ประกาศเรื่องการให้ข้อกำหนด ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีผลใช้บังคับ ลงวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2563 ,ข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15 ) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2563 ข้อ1 และ ข้อ 3

โดยอัยการยื่นฟ้องด้วยวาจาสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 ม.ค. 2564 เวลากลางคืน ถึง 10 ม.ค. 2564 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน ซึ่งอยู่ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรและประกาศดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่ จำเลย กับ พรศักดิ์ อัจฉริยะประดิษฐ์ , จารุกิตติ์ ศรีสวัสดิ์ , กิตติ์ธเนศ บุญยชัยธนรัตน์ , ชุติมา สินวิโรจน์ ,กษิภัท ถิระวรรณธร กับ จิราภรณ์ มหาวัตรและพวกอีก 27คน ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันกินเลี้ยงฉลองวันเกิดของจำเลย ที่บริเวณห้องพัก โรงแรมบันยันทรี ถนนสาทรใต้ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กทม. อันเป็นการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมากถึง 34 คน ในห้องพักซึ่งเป็นห้องที่ปิดมิดชิด ทั้งยังมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้การควบคุมสติลดลง จนไม่มีการรักษาระยะห่างระหว่างกัน และไม่มีการสวมหน้ากากอนามัย อันเป็นการร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัดในเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ต่อมาวันที่ 19 ก.พ. จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ

อย่างไรก็ตาม จำเลยกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ แต่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการป้องกันและควบคุมมิให้โรคระบาดแพร่ออกไปในวงกว้างซึ่งหลังจากงานเลี้ยงวันเกิดของจำเลยมีผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 จากเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งสิ้น 9 คน รวมทั้งตัวจำเลยด้วย แต่คณะผู้สอบสวนโรค สำนักอนามัย ไม่ได้เปิดเผยชื่อผู้ติดเชื้อทั้งหมด เนื่องจากเป็นความลับตามกฏหมาย จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนักเพื่อให้เข็ดหลาบ ในชั้นสอบสวนจำเลยให้รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

ก่อนเริ่มพิจารณา ศาลได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความ จำเลยไม่มีและไม่ต้องการทนายความ จึงอ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและได้ดำเนินกระบวนการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยอธิบายสิทธิ์และหน้าที่ตามกฎหมาย ตลอดจนแนวทางทางในการบรรเทาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย (ถ้ามี) ให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา

จึงพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 มาตรา 9,18 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 10,000 บาท แต่ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลย โดยจำเลยต้องมารายตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งในกำหนด 1 ปี และห้ามมิให้จำเลยร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในสถานที่แออัดในลักษณะเช่นเดียวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ ภายในกำหนด 3 เดือน หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา ม.29,30


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :