ไม่พบผลการค้นหา
หมออ๋อง - ปดิพัทธ์ สันติภาดา ซัดกลับ 'ศรีสุวรรณ' ร้องยุบพรรคก้าวไกลกล่าวหานำสถาบันฯ หาเสียงเป็นเท็จ ตั้งข้อสังเกตรับลูกใครมาหรือไม่ เผยขอรอดูสำนวน หากฟ้องเท็จเตรียมเจอฟ้องกลับ

วันที่ 21 มีนาคม 2566 ปดิพัทธ์ สันติภาดา ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ตอบโต้กรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สอบสวนตนพร้อมกล่าวหาว่ามีการปราศรัยหาเสียงพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีโทษถึงขั้นยุบพรรค โดยระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ตนได้รับเชิญจากชมรมโรงฝึกพลเมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชาวพิษณุโลก และเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวพิษณุโลกสามารถเข้ามาซักถามพูดคุยกับผู้สมัครจากพรรคการเมืองต่างๆ ได้ โดยตนเป็นคนแรกที่ถูกเชิญเข้าร่วมกิจกรรม โดยมีการถามคำถามเกี่ยวกับ 1) ปัญหาที่เห็นว่าควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จากประสบการณ์ที่ได้เป็น ส.ส. 2) นโยบายที่จะทำให้พิษณุโลกเจริญขึ้น และ 3) มีนโยบายการกระจายอำนาจและการปราบปรามการทุจริตอย่างไร

ซึ่งในงานดังกล่าว ได้มีการเชิญประชาชนจากทุกกลุ่มมารับฟังวิสัยทัศน์ โดยหนึ่งในกลุ่มที่ถูกเชิญเข้ามาร่วมซักถามพูดคุยด้วยก็คือกลุ่มของ แน่งน้อย อัศวกิตติกร แกนนำศูนย์ช่วยเหลือทางกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ซึ่งมีบทบาทไล่ฟ้องประชาชนทั่วประเทศด้วยมาตรา 112 ตลอดเวลาที่ผ่านมา

หลังจากการพูดคุยนโยบายตามคำถามหลักเสร็จแล้ว ได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมซักถาม ซึ่งในส่วนของแน่งน้อย ได้พูดต่อว่าผู้จัดงาน หาว่าหลอกให้มาฟังหาเสียง ก่อนใช้ท่าทีที่เต็มไปด้วยโทสะ ถามคำถามกับตนว่าเหตุใดต้องไปประกันตัวคนที่ถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 และเหตุใดจึงต้องมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งตนได้ตอบคำถามนี้แบ่งออกเป็น 3 ประเด็น คือ

  1. การประกันตัวผู้ต้องหาทางการเมือง ทำเพื่อยืนยันในหลักการนิติธรรม ที่ว่าตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยย่อมต้องได้รับการสันนิษฐานก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และการไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ก็คือความบกพร่องในกระบวนการยุติธรรม และด้วยความเป็นคดีทางการเมือง ที่หลายคนมองว่าไม่เข้าข่ายที่จะเป็นความผิดได้ จึงยิ่งต้องมีสิทธิได้รับการประกันตัวให้ออกมาต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม
  2. ตนได้อธิบายจุดยืนของพรรคก้าวไกลต่อมาตรา 112 พร้อมอธิบายว่ามีปัญหาทั้งตัวบทและการบังคับใช้อย่างไรบ้าง
  3. ปัญหาของงบประมาณที่เกี่ยวของกับสถาบันพระมหากษัตริย์และโครงการพระราชดำริ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในรอบหลายปีที่ผ่านมา และยังตรวจสอบได้ยาก ซึ่งตนได้อธิบายว่านี่คืองบประมาณที่ใช้โดยหน่วยงานต่างๆ ไม่ใช่การใช้จ่ายของส่วนพระองค์ จึงควรต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส โดยเฉพาะในโครงการที่มีการนำคำว่าในพระราชดำริมาใช้ ซึ่งหลายโครงการพบว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผล ถ้าไม่เข้าไปตรวจสอบจะเป็นที่มาของการทุจริตโดยหน่วยงานต่างๆ ได้

“ผมขอยืนยันในความบริสุทธิ์ใจ และขอยืนยันว่าทั้งหมดที่พูดไปไม่ใช่การหาเสียง และไม่อยู่ในวาระของการจัดงานด้วยซ้ำ แต่เกิดขึ้นจากการถาม-ตอบนอกรอบ เป็นวาระที่เกิดขึ้นการแน่งน้อยและพวกที่เป็นฝ่ายขวาที่จ้องจะทำลายขบวนการประชาธิปไตยและพรรคก้าวไกล ที่ส่งลูกต่อให้คนอย่างศรีสุวรรณ ที่ไม่ได้เป็นคนที่มีความน่าเชื่อถือในสังคมอะไรมานานแล้วนำมาดำเนินการต่อ” ปดิพัทธ์กล่าว

ปดิพัทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกต คือการยื่นคำร้องของศรีสุวรรณที่รับลูกมาจากแน่งน้อยในครั้งนี้ มีประโยชน์อื่นใดแอบแฝงหรือไม่ ซึ่งจากนี้ตนจะรอดูสำนวนจากทาง กกต. และหากพบว่าเป็นการยื่นคำร้องเท็จ ก็จะดำเนินคดีกลับต่อศรีสุวรรณและแน่งน้อยแน่นอน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ตามปกติ แต่เป็นการจงใจสร้างภาระทางคดีให้กับพรรคก้าวไกลโดยไม่จำเป็น และยังกล่าวหาในเรื่องที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ทำ ถือเป็นความเสียหายต่อทั้งพรรคก้าวไกลและตนเอง ทั้งนี้ มาตรการในการดำเนินคดีจะเป็นอย่างไร หรือจะดำเนินการฟ้องกลับหรือไม่ ทางพรรคจะไตร่ตรองอีกครั้งหลังจากได้รับสำนวน

ปดิพัทธ์ยังกล่าวต่อไปว่า การยื่นคำร้องเพื่อพยายามนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้วด้วยข้อหาที่ไร้สาระ ซึ่งทางพรรคก้าวไกลก็มีความพร้อมที่จะต่อสู้และเข้าสู่การเลือกตั้ง จึงไม่มีอะไรที่น่ากังวลในกรณีนี้

สุดท้ายนี้ ตนเรียกร้องไปยัง กกต. ว่าในเมื่อ กกต. ขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรอิสระแล้ว การวินิจฉัยในการรับคำร้อง การชี้มูล การตั้งกรรมการสอบ จนถึงการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องดำเนินไปด้วยความเป็นกลาง ไม่ใช่ทำตัวเป็นเครื่องมือในการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาล หาก กกต. พิสูจน์ตัวเองในข้อนี้ได้ ประชาชนก็จะมีความมั่นใจในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้งในครั้งนี้มากขึ้นด้วย