ไม่พบผลการค้นหา
งานบรรยายวิชาการออนไลน์หัวข้อ ‘รถแห่: มหรสพสัญจรกับชาวอีสานพลัดถิ่น’ ว่าด้วยการพยายามค้นหาว่า อะไรคือเงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้รถแห่อีสาน เติบโตในบริบททางสังคมเช่นนี้ ทั้งในมิติทางดนตรี สังคม การเมือง และการพลัดถิ่นของคนอีสาน

“ถ้าโรงกาแฟในมหาลัยเหมืองแร่ คือโรงพยาบาลรักษาประสาทอันเสื่อมโทรมจากโรคคิดถึงบ้านของอาจินต์ รถแห่ก็จัดได้ว่าเป็นสถานบำบัดที่ชาวอีสานพลัดถิ่นต้องการ”

วัฒนธรรมรถแห่อีสาน คือหัวข้อที่ จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ นักศึกษาปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสนใจและศึกษาในหลายมิติ  ทั้งในฐานะความบันเทิงของชนชั้นกลางใหม่ และในมิติ ‘มหรสพสัญจรกับชาวอีสานพลัดถิ่น’ ผ่านมุมมองแบบมานุษยวิทยา ที่พยายามมองและทำความเข้าใจปรากฏการณ์รถแห่อีสาน มากกว่ายานพาหนะที่ให้ความบันเทิง แต่สำรวจลึกถึงปัจจัยทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม เชื่อมโยงถึงรากเหง้าทางดนตรี คนอีสานพลัดถิ่น และการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมอีสานใหม่ 

จารุวรรณ เติบโตมาในพื้นที่อีสาน แต่ก็ไม่ได้ผูกพันใกล้ชิดกับรากเหง้าของตัวเองมากนัก เธอสนใจดนตรี (ตามแบบแผน) ตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน และเริ่มหันมาสนใจมิติทางสังคมอีสาน เมื่อครั้งเรียนมานุษยวิทยา โดยเธอนิยามตนเองในลักษณะเป็นทั้ง ‘คนนอก’ และ ‘คนใน’ ที่กระโดดเข้ากระโดดออกในท้องถิ่นตัวเองอยู่ตลอดเวลา

ข้อเขียนถัดจากนี้ เรียบเรียงจากงานบรรยายวิชาการออนไลน์หัวข้อ ‘รถแห่: มหรสพสัญจรกับชาวอีสานพลัดถิ่น’ โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ว่าด้วยการพยายามค้นหาว่า อะไรคือเงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้รถแห่อีสาน เติบโตในบริบททางสังคมเช่นนี้ ทั้งในมิติทางดนตรี สังคม การเมือง และการพลัดถิ่นของคนอีสาน

ก่อตัวเป็นรถแห่ พัฒนาการและพลวัตในสังคมอีสาน

ความเป็นพื้นบ้านของ ‘รถแห่อีสาน’  ไม่ใช่เพียงแค่ความบันเทิงที่ร้องเล่นเพื่อความสนุกสนานเท่านั้น แต่เบื้องหลังกลับแฝงไปด้วยมิติทางสังคมและเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมที่แทรกซ้อนอยู่แทบทุกอณู

จารุวรรณ เริ่มต้นอธิบายการก่อตัวของรถแห่อีสาน ที่เรียกได้ว่าเป็นลูกผสม ด้วยการพัฒนาและต่อยอดจากวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน 2  ทางด้วยกันคือ 

หนึ่ง-วงกลองยาวที่เราคุ้นเคยจากพิธีกรรมต่างๆ เริ่มจากการเป็นรถเล็กๆ ตามหมู่บ้าน สู่การต่อยอดโดยนำเครื่องเสียงมาวางท้ายรถกระบะหรือรถหกล้อ ทำให้วงกลองยาวมีขนาดใหญ่และมีคุณภาพของเสียงดีขึ้นจากเทคโนโลยีสมัยใหม่  

สอง - หมอลำซิ่ง ที่ได้รับความนิยมมาหลายทศวรรษ 

เมื่อสองสิ่งนี้มาผนวกกัน จึงกลายเป็น มหรสพสายพันธุ์ใหม่ หรือก็คือรถแห่ที่เราเห็นอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน

“ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าการเกิดขึ้นของรถแห่ จะทำให้สิ่งเก่าๆ หายไป แต่กลายเป็นว่า ทั้งสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ยังคงดำรงคู่ขนานไปพร้อมๆ กันบนเส้นทางวัฒนธรรมอีสานแบบใหม่ๆ มากยิ่งขึ้น” จารุวรรณกล่าว 

เมื่อรถแห่ ผ่านการปรับปรุงให้เป็นมหรสพที่มีความเติบโตและสำเร็จรูปมากขึ้น และมีการใช้รากวัฒนธรรมอีสานมาพัฒนา ต่อยอด ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีที่เติบโตมาในคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งเข้าใจพื้นฐานทางวัฒนธรรมของตนเอง ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นรถแห่ กล่าวได้ว่า รถแห่อีสาน ก่อร่างสร้างตัวเองจากวัฒนธรรมพื้นถิ่น เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นภาพแทนของมหรสพอีสานที่รู้จักปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอกที่ตนเองพบเจอ จนสามารถคืบคลานเข้าไปได้แทบจะทุกพื้นที่ทางสังคมในอีสาน ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณี พิธีกรรม หรืองานกินเลี้ยงรื่นเริงสังสรรค์ และงานอื่นๆ อีกมากมาย 

ไม่เพียงเท่านั้น รถแห่ยังเผยให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางดนตรีของตนเอง ที่สามารถเติบโตนอกอีสานได้ รวมทั้งในสังคมดิจิทัล แม้จะเป็นการนำเพลงของคนอื่นมาร้องมาเล่น หรือเรียกว่า เวอร์ชั่นคัฟเวอร์ รถแห่อีสานก็สามารถนำเสนอเพลงเหล่านั้นในรูปแบบของตัวเองได้ หรือที่เรียกกันว่า เวอร์ชั่นรถแห่ 

นอกจากนั้น รถแห่ คือการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานชั่วคราวเพื่อตอบสนองความต้องการในเชิงเศรษฐกิจในความเป็นอีสานใหม่ ในมิติดนตรีและวัฒนธรรมที่ต่อยอดจากฐานรากวัฒนธรรมเดิมอย่างลงตัว และถูกจริตกับคนอีสาน ในฐานะที่ตัวเองเป็นพลเมืองของโลกใบนี้ 

ด้วยความที่รถแห่ เป็นความบันเทิงที่พร้อมทำการแสดงได้ทุกที่ทุกเวลาและคล่องตัว เหล่านี้คือ ไม่มีกรอบที่ตายตัว สามารถยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ปัจจัยที่ทำให้รถแห่เป็นที่นิยม ขณะเดียวกัน แม้รถให้จะใช้มีเทคโนโลยีต่างๆ มากมายมาเป็นองค์ประกอบ แต่ก็ไม่ได้ละเลยมิติทางความเชื่อ หมายความว่า ถึงแม้รถแห่จะมีความทันสมัยต่างๆ แต่ก็มีพิธีกรรมก่อนการแสดง เช่น พิธีไหว้ครู ไหว้รถ ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ 

“ตอนลงภาคสนาม พี่ๆ เล่าให้ฟังว่า เคยไปเล่นที่งานหนึ่ง แล้วอยู่ดีๆ คณะก็ไม่สามารถคอนโทรลอะไรไม่ได้ในหลายๆ เรื่อง เจอความฉุกละหุกหน้างาน ฉะนั้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ยังมีความจำเป็นอยู่แม้ว่าจะมีความสมัยใหม่แค่ไหนก็ตาม” จารุวรรณเล่า 

จารุวรรณกล่าวว่า ในอดีต คณะหมอลำต่างๆ จะมีเวลาเล่น  มีเวลาพักวง หรือเวลาที่ท้องถิ่นไม่มีงานรื่นเริง ก็จำเป็นต้องหยุดพัก เพื่อให้สมาชิกกลับบ้านไปทำนา แต่ในยุคใหม่ ที่ระบบเศรษฐกิจบังคับให้เราต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา รถแห่จึงปรับตัว โดยการออกนอกพื้นที่ท้องถิ่น เคลื่อนย้ายตัวเองสู่เมืองใหญ่ เช่นในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม เขตปริมณฑล หรือฝั่งตะวันออกที่เป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม 

“เราพบว่ามีงานแสดงรถแห่แทบทุกวันในบางพื้นที่ โดยงานข้างนอกอีสานก็จะเน้นที่โชว์ มีความหลากหลายในการแสดง บางทีก็เล่นกับหนังกลางแปลง บางทีก็เล่นกับวงดนตรี สร้างความอลังการและเก็บตั๋วเข้าชม เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่มาทำความรู้จักกับรถแห่มากขึ้นเรื่อยๆ” 

‘รถแห่’ ยาใจของคนอีสานพลัดถิ่น 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน  เป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่และมีประชากรมากที่สุด ดังนั้น ภาคอีสานจึงเป็นแหล่งผลิตแรงงานที่กระจายตัวสู่ระบบงานตามพื้นที่ต่างๆ ได้มากที่สุดเช่นกัน 

ในเรื่องการเติบโตของแรงงานอีสาน ในประวัติศาสตร์การเคลื่อนย้าย จารุวรรณเล่าย้อนไปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (2490-2500) มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานหนุ่มสาว โดยเฉพาะแรงงานในรูปแบบชั่วครั้งชั่วคราว หรือช่วงที่ว่างเว้นจากฤดูกาลทำนา  และภายหลัง แรงงานอีสานก็เข้าสู่โรงงานในระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งสายโรงงาน และแรงงานที่มีทักษะเฉพาะด้านต่างๆ จากการพัฒนาด้านศึกษา ดังนั้น แรงงานอีสานจึงแทรกซ้อนอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และตามปริมณฑล และภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดระยอง ชลบุรี มันจึงมีบรรยากาศความเป็นท้องถิ่นอีสานที่กระจัดกระจายอยู่ 

“เราอาจคุ้นกับวาทกรรม 'สู้เขา บ้านเฮามันแล้ง' มันก็สะท้อนและย้ำเตือนให้ลูกอีสานสู้ชีวิต ออกไปดิ้นรนตะกายเพื่อความฝันที่จะหอบเงินกลับบ้าน เนื่องจากยุคก่อนไม่ได้มีงานที่ให้ทำหลากหลายมากนัก เพลงยุคก่อนๆ จึงผลิตเพลงเนื้อหาที่ลำบากตรากตรำของคนอีสานเยอะมาก เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ และเพื่อปลอบประโลมเหล่าแรงงานด้วย”

เมื่อสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป คนอีสานสามารถผลิตผลงาน เป็นผู้ประกอบการ มีอิสระมากขึ้นในการผลิตเพลงรูปแบบใหม่ๆ ดังนั้น ปรากฏการณ์หนึ่งที่สำคัญคือ มีค่ายเพลงท้องถิ่นที่เติบโตมาจากการเป็นผู้คนที่เข้าใจและเอาเทคโนโลยีการผลิตเพลงมาสร้างผลงานตามต้นทุนที่พวกเขามี เช่น ค่ายเซิ้งมิวสิค ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและเเข็งแรงตามลำดับ 

“เราเห็นวิธีการเติบโตของพวกเขา ทั้งการประชาสัมพันธ์ที่ดี ฉกฉวยมวลชนจากค่ายใหญ่ๆ มาได้ ด้วยวิธีการที่ประกาศลงเฟสบุ๊กตัวเอง คือจะไม่เก็บค่าลิขสิทธิ์กับนักร้องกลางคืนและนักร้องรถแห่ ยกเว้นคอนเสิร์ตใหญ่ๆ” จารุวรรรกล่าว 

จารุวรรณพบว่า เทคโนโลยีและวัฒนธรรมบันเทิงที่เกิดขึ้นในดินแดนอีสาน ได้รับความนิยมจนล้นหลามโดยเฉพาะรถแห่ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดช่วงทศวรรษที่ 2560  มีบาทอย่างมากในส่วนการประกอบพิธีกรรมและการแสดงในฐานะมหรสพ 

นอกจากนั้น รถแห่ยังมีอีกหลายบทบาท อาทิ การเป็นปากเป็นเสียงให้ท้องถิ่น และมิติทางการเมือง ทั้งการเป็นเครื่องมือโฆษณาในการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงโควิดที่ผ่านมา ละบทบาทการต่อต้านรัฐในช่วง CAR MOB  

“เราเห็นว่ารถแห่มีพลังบางอย่างที่สื่อสารกับคนในท้องถิ่น ซึ่งถ้าย้อนไปเรื่องดนตรีอีสานกับการต่อต้านรัฐ มันมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่ช่วงผีบุญที่ใช้เเคนมาเป็นกระบอกเสียงในการสื่อสารกับมวลชนของตัวเองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง “

สิ่งหนึ่งที่จารุวรรณเห็นได้อย่างชัดเจนคือ คือบทบาทการดึงดูดคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น จากปรากฏการณ์คาราวานก้าวไกล ที่ใช้รถแห่เข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อเรียกเสียงมวลชนในการเลือกตั้งที่ผ่านมา รวมถึงบทบาทของรถแห่ที่มีมากกว่าการเป็นมหรสพสนุกสนาน แต่มีบรรยากาศการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่มีความสำคัญกับคนอีสานทุกยุคทุกสมัย และแทรกซ้อนด้วยมิติทางการเมืองที่กิจกรรมทางดนตรีเข้าไปร่วมด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“นอกจากนั้น เพลงของอีสานก็ค่อนข้างเปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วย ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับความลำบากยากเข็ญมากนัก โดยกลุ่มอีสานพลัดถิ่นเอง ก็คือผู้สนับสนุนกลุ่มใหญ่ช่วยให้ Pop culture อีสานเติบโต” จารุวรรณกล่าว 

วัฒนธรรมอีสานใหม่ กับการครองใจมวลชนทุกภูมิภาค

จารุวรรณกล่าวในประเด็นนี้ว่า ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือแรงงานอีสานที่กระจัดกระจายตัวไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากในเพลงสมัยก่อน เพลงต่างๆ ล้วนผลิตมาเพื่อตอบสนองแรงงาน โดยใช้ความหวนคิดถึงบ้านผ่านอัตลักษณ์ของแรงงานพลัดถิ่น 

“สุทนรียะและพื้นที่ทางสังคมของแรงงานพลัดถิ่นตรงนี้จึงมีความสำคัญมาก ที่ทำให้เกิดกระแสป็อปใหม่ๆ   เรานึกถึงเพลง เสียงแคนจากแมนชั่น ของไหมไทย ใจตะวัน เพลงนี้ก็สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวของแรงงานพลัดถิ่นได้เป็นอย่างดี” 

จารุวรรณยกตัวอย่างงานศึกษาของนักมานุษยวิทยาต่างประเทศ ที่เข้ามาศึกษาอีสาน โดยเขาได้กล่าวว่า “เสียงแคนนั้นหยั่งรากลึกไปถึงมโนสำนึก เมื่อคนอีสานได้ยินเสียงพิณเสียงแคน เหมือนได้หวนกลับบ้าน”  ดังนั้น เมื่อแรงงานอีสานคิดถึงบ้าน จึงต้องหาพื้นที่แสดงออกทางวัฒนธรรมย่อยของตัวเอง เช่นการรวมกลุ่มในร้านอาหารเพื่อสนทนาเป็นภาษาถิ่น ฟังเพลงที่คุ้นเคย กินอาหารรสชาติที่ถูกปากจากวัตถุดิบอีสาน เหล่านี้เป็นความรู้สึกบางอย่างที่เชื่อมโยงระหว่างคนอีสานกับวัฒนธรรมบันเทิงที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กัน

“เราจะเห็นว่า ร้านอาหารหลายๆ ร้านที่ประกาศตัวเองว่ามาจากไหน เช่น ลายสารคาม ลาบเป็ดยโส ลาบนัวอุดร ส้มตำขอนแก่น วัฒนธรรมย่อยต่างๆ เหล่านี้ก็สะท้อนผ่านอาหารการกิน ผ่านพื้นที่ทางสังคมต่างๆ ที่รวมผู้คนอีสานในเมืองใหญ่ จนนำไปสู่การเป็น Pop Culture แบบอีสาน”

นอกจากนั้น จารุวรรณเห็นว่า แม้รถแห่เอง จะไม่มีการใช้เครื่องดนตรีแบบอีสานเลยแม้แต่ชิ้นเดียว แต่รถแห่ก็สามารถสงวนเสียงของผัสสะดนตรีอีสานไว้อยู่ เป็นการผสมผสานทางดนตรีอย่างกลมกล่อม อย่างกรณีเสียงกีต้าที่สามารถเลียนเป็นเสียงพิณ หรือคีย์บอร์ดที่สามารถเลียนเสียงแคนและเสียงโหวด เพื่อคงอรรถรสของเสียงอีสานเพื่อเชื่อมร้อยตนเองกับรากวัฒนธรรมเดิม 

นอกจากนี้ จารุวรรณ ยังพบว่า ความเป็นอีสานใหม่ที่พบจากการศึกษารถแห่ มีอยู่ 2 มิติด้วยกันคือ 

หนึ่ง มิติทางดนตรี ที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาจากการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่น มานำเสนอใหม่ในรูปแบบของตัวเอง

สอง มิติทางสังคม ที่รถแห่เป็นพื้นที่ของคนอีสานที่เติบโตทางเศรษฐกิจจากการข้ามเส้นพรมแดนทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรมของตนเอง โดยอีสานใหม่ได้จำเป็นต้องนำเสนอความลำบากเหมือนอดีตเสมอไป แต่มันแฝงไปด้วยความโรแมนติกเข้าไปด้วย 

“รถแห่ในฐานะมหรสพสายพันธุ์ใหม่ของลูกอีสาน ได้รับใช้แรงงานอีสานพลัดถิ่นอย่างสมน้ำสมเนื้อ ด้วยค่าตั๋วราคาร้อยกว่าบาทที่เราเห็นในงานมหกรรมรถแห่ ซึ่งราคานี้ กับบางคนคือค่าแรงจากการทำงาน 1 วันเลยก็ว่าได้ แต่เขาก็ยอมจ่ายเพื่อนำตัวเองเข้าไปสู่บรรยากาศแวดล้อมทางสังคมที่เขาต้องการ” จารุวรรณทิ้งท้าย