วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2567) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการวางกลยุทธ์ในการพัฒนาดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม วันที่ 1” โดยมี นายนะลงลิท นอละสิง ปลัดกระทรวงยุติธรรมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ดร.ศรีรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก World Justice Project (WJP) ดร.พิเศษ สอาดเย็น ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ดร.นัทธี จิตสว่าง อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมฯ ณ ห้องประชุม Learning Studio ชั้น 1 สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การจะเปลี่ยนแปลงต้องมี 3 สิ่ง คือ สถานการณ์ เวลา และโอกาส วันนี้สังคมไทยน่าจะถึงสถานการณ์ เวลา และโอกาส โดยเฉพาะในบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นสถานการณ์ที่เหมาะสมของกระทรวงยุติธรรมขณะนี้ คือ การที่ได้ร่วมมือกับ World Justice Project ในการทบทวนกลยุทธ์หรือตัวชี้วัด เพื่อให้เกิดการยอมรับ ความเชื่อมั่นกับคนไทย และความเชื่อมั่นของนานาชาติ ที่ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง แต่ขอเรียนว่า หลักนิติธรรม จะต้องเป็นหลักนิติธรรมของไทยหรือสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย ที่รัฐธรรมนูญมีความสูงสุดหรือศักดิ์สิทธิ์ที่สุดได้วางหลักไว้ต้องไม่บัญญัติกฏหมายและบังคับใช่กฏหมายอยู่เหนือหลักนิติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งในการบริหารราชการแผ่นดินจะมีอยู่ 1 เรื่อง ในรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ว่า ต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เพราะการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คือ ประชาชนเป็นศูนย์กลาง การประชุมสัมมนาครั้งนี้จึงเป็นโอกาสของกระทรวงยุติธรรมและโอกาสของประชาชนคนไทย อย่างน้อยที่สุด คือ การนำผลการสัมมนานี้เป็นข้อมูลในการประชุมปรับปรุง พัฒนา แผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ และบรรจุในแผนแม่บทฯ ซึ่งเมื่อเข้าคณะรัฐมนตรีและมีการประกาศใช้จะเป็นทิศทางสร้างประเทศด้วยหลักนิติธรรมตามที่ได้ประชุมสัมมนากันในวันนี้
ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการวางกลยุทธ์ในการพัฒนาดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรม วันที่ 1” จัดโดยความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และ World Justice Project (WJP) เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในกระบวนการวัดและประเมินหลักนิติธรรมในระดับสากล และการนำดัชนีชี้วัดดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบยุติธรรมของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น