ไม่พบผลการค้นหา
ชิปปิงหยุดชะงัก เรือยักษ์เกยตื้นขวางคลองสุเอซ เศรษฐกิจพังแสนล้าน สะเทือนการค้าโลก

ระบบการขนส่งสินค้าทางเรือ หรือ ชิปปิง (shipping) ทั่วโลกเป็นอันต้องชะงักลง จากการที่เมื่อ 23 มี.ค. เรือคาร์โกขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ที่ชื่อ เอเวอร์ กิฟเวน "Ever Given" เกิดปัญหาสูญเสียพลังขับเคลื่อนในระหว่างการเล่นผ่านเส้นทางคลองสุเอซ เป็นเหตุให้เรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ที่มีระวางขับน้ำถึง 224,000 ตัน ถูกคลื่นและกระแสลมพัดจนเกยตื่น ตัวเรือพาดขวางตลอดแนวคลอง ปิดกั้นเรือลำอื่นๆ ไม่สามารถใช้เส้นทางนี้ได้ ทางการอียิปต์ซึ่งเป็นผู้บริหารดูแลรับผิดชอบคลองสายสำคัญแห่งนี้ ต้องสั่งปิดเส้นการใช้เส้นทางอย่างไม่มีกำหนด 

ตามรายงานระบุว่า ช่วงเวลาของวันที่ 23 มี.ค. ขณะที่เรือเอเวอร์ กิฟเวน กำลังเล่นผ่านบริเวณส่วนแคบที่สุดของคลอง ซึ่งมีความกว้างเพียง 250 เมตร เกิดเหตุบางอย่างที่ทำให้เรือสูญเสียพลังงานขับ ประกอบกับในช่วงนั้นมีพายุทรายพัดผ่าน ทัศนวิสัยไม่ชัดเจน ทำให้เรือความยาว 400 เมตร ซึ่งยาวกว่าขนาดของตึกเอ็มไพร์สเตท ถูกกระแสคลื่นลมพัดเกยตื้นฝั่งคลองทั้งส่วนหัวและท้ายเรือ

คลองสุเอซ

"เอเวอร์ กิฟเวน" เป็นเรือขนส่งสินค้าติดธงสัญชาติประเทศปานามา บริษัทผู้เป็นเจ้าของเรือคือ "โชเอ ไกเซน" ของญี่ปุ่น แต่มีบริษัทผู้ที่รับผิดชอบบริหารเรือลำนี้คือ "เอเวอร์กรีน" (Evergreen Marine Corporation) ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือรายใหญ่สัญชาติไต้หวัน ช่วงแรกของการเกิดเหตุ หน่วยงานผู้รับผิดชอบคลองสุเอซประเมินว่าอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในการขนย้ายเรือให้พ้นการขวางคลอง แต่จนถึงขณะนี้ซึ่งเข้าสู่วันที่ 3 หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างยอมรับว่า ปัญหานี้เป็นงานยากกว่าที่คิด และไม่อาจให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่าจะแก้ไขวิกฤตครั้งใหม่นี้ได้เมื่อใด ยิ่งสร้างผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้า และความปั่นป่วนด้านโลจิสติกส์ทางทะเลไปทั่วโลก


'ทางลัด' เชื่อมยุโรป-เอเชีย

คลองสุเอซ (Suez Canal) เป็นตัวเชื่อมเส้นทางการค้าสำคัญของโลกในด้านการขนส่งสินค้าทางเรือ ที่เสมือนเป็นทางลัดเชื่อมระหว่างทวีปยุโรป และเอเชีย ทั้งยังเป็นหนึ่งในสุดยอดวิศวกรรมของคลองที่มนุษยสร้างขึ้น เรือส่วนใหญ่ที่ผ่านเส้นทางนี้มีทั้งเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ระดับ "ซุปเปอร์แทงเกอร์" (supertanker) รวมถึงเรือบรรทุกสินค้าระดับเมกะชิป (Megaships) ที่มีขนาดบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ถึง 20,000 TEU ผ่านเข้าตลอดเวลา

จุดเริ่มต้นตั้งแต่พอร์ตซาอิต (Port Said) ในฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กับเมืองสุเอซ ( Suez) บนฝั่งทะเลแดง ตลอดเส้นทางของคลองความยาว 193 กิโลเมตร เริ่มขุดเมื่อ 25 เมษายน พ.ศ. 2402 ใช้เวลาขุดนานนับ 10 ปี กระทั่งเปิดใช้งานเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2412 ช่วยย่นระยะทางทวีปเอเชีย ตัดผ่านตะวันออกกลาง เข้าสู่ยุโรปอย่างรวดเร็ว โดยเรือไม่ต้องเสียเวลาแล่นอ้อมแหลมกู๊ดโฮปของทวีปแอฟริกา ความพิเศษของคลองนี้คือ ระดับน้ำทะเลระหว่างทะเลแดงกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ไม่ได้มีความต่างกันมากนัก จึงทำให้เรือสามารถแล่นเข้าออกทั้งสองฝั่งได้โดยไม่ต้องใช้ประตูกั้นระดับน้ำดังเช่นที่คลองปานามา

คลองสุเอซ

การบริหารคลองสุเอซในช่วงแรกอยู่ภายใต้ชาติมหาอำนาจอย่าง สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส เนื่องจากเจ้าอาณานิคมต้องการถือครองกรรมสิทธิ์บริหารเส้นทางเดินเรืออันสำคัญยิ่งของโลกจึงอาศัยลงทุนสร้างคลองแห่งนี้ขึ้น โดยหลังจากเปิดใช้งานคลองเมือ พ.ศ.2412 เพียงไม่นาน เรือจากนานาชาติขอใช้บริการแล่นผ่านเป็นจำนวนมาก และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นการรับประกันว่าเรือของทุกฝ่ายมีสิทธิใช้คลองได้อย่างเท่าเทียม จึงเกิดการทำข้อตกลงระหว่างประเทศในปี 2431 ที่กำหนดให้เรือทุกสัญชาติ สามารถใช้คลองนี้เป็นเส้นทางเดินเรือได้ไม่ว่าเป็นเรือชักธงสัญชาติใดก็ตาม และไม่ว่าในช่วงเวลาสงครามหรือยามสงบ

ทว่าทั้งช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง สหราชอาณาจักรซึ่งร่วมบริหารคลองแห่งนี้ ประกาศห้ามเรือชาติศัตรูแล่นผ่านคลอง เช่นเดียวกันกับช่วงความขัดแย้งระหว่างอียิปต์กับอิสราเอลระหว่าง พ.ศ.2491 - 2492 อียิปต์ประกาศห้ามเรือสัญชาติอิสราเอลทุกลำ แล่นผ่านคลองแห่งนี้


สมรภูมินองเลือด

ด้วยความสำคัญยิ่งในฐานะเส้นทางขนส่งทางเรือ บรรดาชาติมหาอำนาจมากมายต่างต้องการเข้ามาเป็นผู้เล่นเพื่อชิงผลประโยชน์ในคลองแห่งนี้ ปัญหาการแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือคลองสุเอซทวีรุนแรงจนกลายเป็นสงครามนองเลือด ที่เรียกว่า วิกฤตการณ์คลองสุเอซ เมื่อ พ.ศ.2499 'คามัล อับเดล นัสเซอร์' ผู้นำอียิปต์ใช้กำลังยึดคลองสุเอซคืนจากชาติตะวันตกให้เป็นของรัฐบาลอียิปต์ พร้อมส่งกองกำลังเข้าควบคุมกิจการของคลอง แต่ปัญหาในขณะนั้นคือ อียิปต์ไม่มีประสบการณ์ในการเดินเรือในคลองมากเท่ามหาอำนาจชาติตะวันตก อียิปต์จึงหันไปพึ่งพา 'สหภาพโซเวียต' ให้ช่วยสอนวิธีการเดินเรือ ท่ามกลางช่วงเวลาที่โลกเต็มไปด้วยความคุกรุ่นของสงครามเย็น

เรื่องนี้กลายเป็นปัญหาระดับโลก เพราะในเวลาไล่เลี่ยกันชาติที่เป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุนก่อสร้างคลองอย่าง สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิสราเอล ตอบโต้การยึดสำนักงานบริหารคลองของกองทัพนัสเซอร์ ด้วยการยกพลขึ้นบกเมืองพอร์ตซาอิด ภายใต้ชื่อ 'ปฏิบัติการคาเดซ-สงครามไซนาย' อียิปต์ตอบโต้ด้วยการจมเรือเพื่อกีดขวางไม่ให้เรือใดผ่านเข้าออก ความขัดแย้งทวีความตึงเครียดจนสหประชาชาติ รวมถึงสหรัฐอเมริกา และโซเวียต ต้องเข้ามาแทรกแซง ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสยอมถอนกองกำลังออก พร้อมกู้ซากเรือที่อียิปต์จมเพื่อปิดคลองจนเปิดใช้งานได้อีกครั้ง

คลองสุเอซ

ความวุ่นวายในคลองสุเอซเกิดขึ้นอีกครั้งช่วง วิกฤตการณ์ครั้งที่สอง จากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มภาคีชาติอาหรับกับอิสราเอล หรือเหตุการณ์ 'สงครามหกวัน' ปี 2510 สงครามครั้งนั้นทำให้คลองสุเอซต้องปิดตัวไปนานหลายปีเนื่องจากกองทัพอียิปต์จำเป็นต้องต่อสะพานข้ามคลองเพื่อขนอาวุธยุทโธปกรณ์ข้ามไปอีกฝั่งเพื่อสู้รบกับกองทัพอิสราเอล คลองเปิดทำการได้อีกครั้งช่วงหลังจากปี 2518 โดยสงครามดังกล่าวสร้างความสูญเสียให้กำลังพลฝ่ายอิสราเอลถึง 800 นาย และกองทัพกลุ่มชาติอาหรับเสียชีวิตถึง 21,000 คน ภายหลังอิยิปต์และอิสราเอลทำข้อตกลงสันติภาพต่อกัน ในปี พ.ศ.2522 อิยิปต์ก็ยอมให้เรืออิสราเอลใช้คลองสุเอซได้โดยเสรี


ขุมทอง 'คลองสุเอซ' 

คลองสุเอซได้รับการยกระดับครั้งสำคัญ ประธานาธิบดี อับฟัตตาห์ อัล-ซิซี ผู้นำคนปัจจุบันที่ระดมเงินลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ในการขยายคลองเพื่อรองรับการค้าและจำนวนเรือที่มีมากขึ้น รวมถึงฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันคลองสุเอซอยู่ภายใต้การบริหารงานของ (Suez Canal Authority - SCA) แต่ละปีรัฐบาลไคโรมีรายได้จากการบริหารคลองแห่งนี้ไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.68 แสนล้านบาท แผนการขยายคลอง รัฐบาลจึงตั้งเป้าช่วยให้มีรายได้จากคลองต่อปีสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า

จากข้อมูลของ SCA เมื่อปีที่แล้วพบว่า มีเรือผ่านเข้า-ออกตลอดเส้นทางนี้เกือบ 19,000 ลำ หรือเฉลี่ยวันละ 51 ลำ ตู้คอนเทนเนอร์ประมาณ 30% ของตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และราว 12% ของสินค้าทั่วโลกจะถูกขนส่งผ่านคลองสายนี้ คิดเป็นจำนวนสินค้าไม่น้อยกว่า 12,000 ล้านตัน และเป็นเส้นทางของปริมาณน้ำมันไม่น้อยกว่า 1,900 ล้านบาร์เรล

ที่ผ่านมาคลองถูกปิดด้วยความขัดแย้ง แต่เหตุการณ์เรือเอเวอร์กิฟเวนที่ผิดพลาดเกยตื้นขวางคลอง นับว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีคือ เส้นทางขนส่งสินค้าผ่านคลองสุเอซกลายเป็นอัมพาต ทั้งเรือโดยสาร เรือคาร์โกสินค้า เรือบรรทุกน้ำมันไม่สามารถแล่นระหว่างยุโรปกับเอเชียได้ รายงานระบุว่า เรือกว่า 250 ลำ ต้องจอดลอยลำนอกชายฝั่งเพื่อรอการตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนเส้นทางอย่างไรดี

คลองสุเอซ

Lloyd's ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งและประกันภัยทางเรือ ประเมินว่า หากยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายเรือออกไปพ้นเส้นทางขวางคลองภายใน 48 ชั่วโมงข้างหน้า บริษัทขนส่งหลายแห่งไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปทางปลายสุดของทวีปแอฟริกา เสียเวลาการเดินทางอีก 10 วัน เพิ่มต้นทุนด้านการขนส่งและระยะเวลาที่มากขึ้น อีกทั้งบริเวณ 'จะงอยแอฟริกา' (Horn of Africa) นอกชายฝั่งโซมาเลีย ยังเต็มไปด้วยโจรสลัด เพิ่มความเสี่ยงแก่การขนส่งสินค้า Lloyd's คาดว่าการปิดกั้นครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับการขนส่งทางเรือมากถึง 9,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 2 แสนล้านบาท

ความท้าทายของการจัดการปัญหานี้คือ ด้วยขนาดอันมหึมาของเรือประกอบกับจำนวนตู้สินค้าที่ขนมาเต็มลำ เรือลากจูง ( tugboat) ไม่อาจมีกำลังมากพอที่จะทำให้เรือหลุดจากการเกยตื้น ประกอบกับช่วงนี้เป็นเวลาที่กระแสลมแรง น้ำทะเลในคลองลดต่ำ ยิ่งเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายเรือให้พ้นทาง วิธีสามารถทำให้เรือขยับพ้นการเกยตื้นคือ ต้องทำให้เรือเบาลง แต่ปัญหาต่อมาคือจะขนถ่ายตู้สินค้าลงจากเรือได้อย่างไร เนื่องจากติดอยู่กลางเส้นทางที่ไม่มีท่าเรือใกล้เคียง

ทีมผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์ซึ่งลงพื้นที่ เผยกับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นว่า ขณะนี้ เรือไม่ต่างจากวาฬขนาดยักษ์ที่เกยตื้น การขุดดินใต้ท้องเรือตามวิธีที่ SCA เสนอ ไม่อาจทำให้เรือขยับได้ วิธีดีที่สุดคือการถ่ายน้ำหนักลงจากเรือในข้างต้น แต่กระบวนการดังกล่าวต่อใช้เวลาหลายวัน และยากจะประเมินว่าจะสำเร็จเมื่อใด

ปีเตอร์ แซนด์ หัวหน้านักวิเคราะห์การขนส่งของสมาคมขนส่งระหว่างประเทศ (BIMCO) เผยกับบีบีซีว่า บรรดาเรือที่ติดชะงักอยู่นั้น ไม่เพียงมีแค่เรือบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ หรือเรือบรรทุกน้ำทันเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรือบรรทุกสินค้าเทกอง (Bulk Cargo) ประเภทข้าวสาร ธัญพืช หรือสินแร่ชนิดต่างๆ ดังนั้น ยุโรปและเอเชียอาจได้เห็นการหยุดชะงักของสายพานการผลิตของสินค้าบางประการทั้งเอเชียและยุโรปในไม่ช้า