ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและแนวร่วมเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในจังหวัดสงขลา เดินทางมายังสี่แยกนกเขา เป็นสัญลักษณ์ของอำเภอจะนะ ห่างจากโรงเรียนจะนะวิทยา ตำบลสะกอม ซึ่งเป็นสถานที่ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ ศอ.บต.จัดเวทีรับฟังความเห็นในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ประมาณ 5 กิโลเมตร ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยได้ร่วมกันถือแผ่นป้ายผ้า แผ่นป้ายข้อความกระดาษแสดงถึงความไม่เห็นด้วยกับโครงการ และเวทีรับฟังความเห็นในครั้งนี้ ซึ่งมองว่าเป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้ครบกระบวนการ โดยเรียกร้องให้ยกเลิก มติคณะรัฐมนตรี ในการอนุมัติโครงการนี้และยกเลิกนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ยืนยันที่จะไม่เข้าร่วมในเวทีที่เห็นว่าเป็นเพียงเวทีพิธีกรรมเท่านั้น ทั้งนี้บรรยากาศในการคัดค้านเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น อ่านแถลงการณ์ ฉบับหยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และร่วมกันแสดงเจตนาการพัฒนาอำเภอจะนะ ไปสู่ความมั่นคงยั่งยืน บนฐานศักยภาพที่มีอยู่จริง ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้จัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นในโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 นี้ เพื่อต้องการเดินหน้าโครงการโดยไม่สนใจฟังเสียงประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรม 16,700 ไร่ ในพื้นที่ 3 ตำบล อำเภอจะนะ ทั้งที่พวกเราได้แสดงเหตุผลมาอย่างต่อเนื่องว่า โครงการนี้มีความไม่ชอบธรรมในหลายประการ อย่างเช่น
1.การเริ่มต้นโครงการนี้ได้ใช้อำนาจของรัฐบาล และของ ศอ.บต. ดำเนินการอย่างรวบรัดขั้นตอน โดยการอนุมัติโครงการ พร้อมอนุมัติงบประมาณเบื้องต้น 18,000 กว่าล้านบาทก่อน แล้วมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นภายหลัง อันถือเป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่สวยงาม และไม่สามารถยอมรับได้ แต่กลับอ้างถึงกระบวนการมีส่วนร่วมที่ตนเองสร้างขึ้น (พิธีกรรม) ดังที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับโครงการ ซึ่งโครงการคือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระดับประเทศ แต่ไม่ให้สนใจรับฟังความคิดเห็นประชาชนชาวจังหวัดสงขลาทั้งหมด แต่จำกัดไว้เฉพาะพื้นที่ 3 ตำบลเท่านั้น และคนที่ไม่เห็นด้วยในพื้นที่นี้จะถูกปิดกั้นด้วยเช่นกัน
2.เห็นได้ชัดว่าโครงการนี้คือการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน โดยการใช้ ศอ.บต. ซึ่งกุมอำนาจการบริหารราชการและความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกขับเคลื่อน และได้ใช้วิธีการพิเศษที่ไม่สนใจขั้นตอนตามกฎหมายปกติเพื่อจะให้โครงการนี้เกิดขึ้นให้ได้ และยังอ้างถึงความเจริญด้านเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่ผลประโยชน์หลักจะตกอยู่กับทุนเฉพาะกลุ่มและนายหน้าซื้อขายที่ดินเท่านั้น
3.โครงการนี้จะสร้างความเสียหายกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมหาศาลในอนาคต และเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนสภาพของชายหาดอย่างรุนแรง อันรวมถึงสภาพอากาศจากมลพิษโรงงานจำนวนมาก และน้ำเสียที่จะปล่อยลงสู่ทะเล ที่จะทำลายระบบนิเวศโดยรวมของทะเลจังหวัดสงขลา อันเป็นแหล่งสัตว์น้ำทะเลที่สำคัญของพวกเรา และจะนำมาซึ่งความยากลำบากในการดำรงชีวิตปกติของประชาชนในชุมชนทั้ง 3 ตำบล ของอำเภอจะนะอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
พวกเราไม่ต้องการอยู่ในความขัดแย้งใดๆ ที่ ศอ.บต. กำลังสร้างขึ้น โดยการจับมือกับกลุ่มทุนเหล่านั้นทำการแบ่งแยกแล้วปกครองพวกเรา ทั้งที่ ศอ.บต. คือองค์กรรัฐที่ต้องทำหน้าที่จัดการความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้หมดหายไป ซึ่งทุกคนรับทราบดี แต่ครั้งนี้เห็นได้ถึงความผิดปกติขององค์กรนี้อย่างชัดเจน เสมือนเป็นผู้สร้างความขัดแย้งเสียเอง
เวลาที่ผ่านมาพวกเราได้พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการนี้ด้วยเหตุและผล อันรวมถึงการการยกเลิกเวทีในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ออกไปก่อน แล้วมาสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแท้จริงเพื่อพัฒนาพื้นที่อำเภอจะนะบนฐานศักยภาพที่มีอยู่ แต่กลับไม่ได้รับความสนใจ เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นขอประกาศอีกครั้งว่าเราไม่เห็นด้วยกับโครงการ “จะนะเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”
ขอเชิญชวนพี่น้องชาวจะนะ ชาวจังหวัดสงขลา และพี่น้องประชาชนทั่วไป ร่วมอันแสดงออกต่อโครงการนี้ร่วมกับพวกเราอย่างถึงที่สุด และให้ร่วมกันแสดงเจตนาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอำเภอจะนะไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนอย่างแท้จริง บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
สำหรับเวทีรับฟังความเห็นของ ศอ.บต.นั้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สรุปผลการรับฟังความเห็นนั้นประชาชนเห็นด้วย แต่พบว่าเวทีได้เลิกในเวลา 11.00 น.ทั้งที่ตามกำหนดการนั้น เลิกเวลา 13.30 น. ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป