ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ชี้ 'ไพบูลย์' เลิกพรรคตัวเองทำลายระบบพรรคการเมือง ทำลายเจตจำนงประชาชนลงคะแนนวันเลือกตั้ง ย้ำเลิกพรรคเพื่อให้ ส.ส.ย้ายซบพรรคพลังประชารัฐทำไม่ได้

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ระบุถึงกรณีการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2560 มีเจตนารมณ์เกี่ยวกับการควบรวม และการเลิกพรรค ไว้ดังนี้

1.ไม่ประสงค์ให้ควบรวมพรรคการเมือง สาเหตุเพราะว่าผู้ร่างมีบทเรียนที่ผ่านมาในอดีต คือ มีพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้นในเวลานั้น แล้วเมื่อเข้าสู่สภาก็เข้าไปควบรวมพรรคการเมืองต่างๆกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่เกิน 300 เสียง ดังนั้นกฎหมายพรรคการเมือง ปี 2560 จึงเขียนเอาไว้ในหมวด 9 ว่าด้วยการควบรวมพรรคการเมืองว่า จะควบรวมพรรคการเมืองแบบไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ การควบรวมพรรคการเมืองตามกฎหมายปัจจุบันจะเกิดได้มีเงื่อนไข คือ 1. ถ้าอยู่ในสมัยประชุมสภาห้ามควบรวมพรรคการเมืองเด็ดขาด เพื่อป้องกันการควบรวมจากพรรคเล็กไปพรรคใหญ่

2. หากสองพรรคมารวมกันต้องกำเนิดพรรคใหม่ขึ้นมา มิใช่ เล็กไปรวมกับใหญ่ แล้วอยู่ในนามพรรคใหญ่ 3. ต้องเรียกประชุมใหญ่ทั้ง 2 พรรคเพื่อลงมติการควบรวมพรรค 

2. การเลิกพรรคการเมือง ตามมาตรา 91 (7) ถ้าหากมีการเลิกพรรคเกิดขึ้นให้ปฎิบัติเหมือนถูกยุบพรรค และเพื่อคุ้มครองสถานะของ ส.ส. ให้ ส.ส.สามารถหาพรรคใหม่ได้ภายใน 60 วัน 

นายปิยบุตร ระบุว่า การใช้ช่องทางการเลิกพรรค จะต้องไม่นำมาซึ่งการควบรวมพรรคโดยปริยาย จะต้องไม่ใช่การใช้ช่องทางการเลิกพรรคอย่างบิดเบือน เพื่อไปทำให้เป็นการควบรวมพรรค โดยหลีกเลี่ยงกฎหมายข้อห้ามและเงื่อนไขการควบรวมพรรค 

"กรณีที่มีประกาศจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้พรรคประชาชนปฎิรูปให้สิ้นสภาพ โดยเหตุที่ว่ามีการเลิกพรรค หากพิจารณาตามกฎหมาย ผมคิดว่าการเลิกพรรคแบบนี้น่าจะทำไม่ได้ เพราะเป็นการใช้บทบัญญัติเรื่องการเลิกพรรคแบบบิดผัน เพื่อส่งผลให้เกิดการควบรวมพรรคการเมืองโดยปริยาย และเป็นการควบรวมพรรคที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และจะเกิดผลเสียดังต่อไปนี้ 1. พรรคเล็ก 1 เสียง จะใช้ช่องทางนี้ควบรวมกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เพราะหากใช้กฎหมายควบรวมตอนนี้ยังทำไม่ได้เพราะอยู่ในสมัยประชุมสภา จึงหนีไปใช้ช่องทางเลิกพรรคการเมืองแทน 2. ส่งผลต่อการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 3. ส.ส.ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคที่ถูกเลิกกิจการ ส.ส. คนนั้น จะไม่มีวันหลุดจาก ส.ส.อีกเลย อย่างเช่น หากมี ส.ส.คนหนึ่ง ย้ายไปอีกพรรคหนึ่งที่ใหญ่กว่า แล้วเกิดมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส แบบแบ่งเขต ภายใน 1 ปีนี้ ก็ต้องนำคะแนนดิบทั้งประเทศมาคำนวณที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เคยอยู่พรรคเล็กเดิม ก็ไม่ต้องกังวลว่าพรรคตนเองจะเสียที่นั่ง ส.ส.อีกแล้ว เพราะตนเองย้ายมาพรรคใหม่แล้ว แต่กลายเป็นว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับท้ายของพรรคใหญ่ ต้องกังวลว่า หากคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่แล้ว ตนเองจะหลุดจากการเป็น ส.ส.หรือไม่ และ 4.เป็นการทำลายระบบพรรคการเมือง และทำลายเจตจำนงของประชาชนที่เลือกพรรคนั้นๆ" นายปิยบุตร กล่าว 


เทพไท

'เทพไท' ติงยุบพรรคตัวเองทำคะแนนพรรคหายหรือไม่ จับตาศาล รธน.ตีความ

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง มติของ กกต.ให้ยุบพรรคประชาชนปฎิรูปว่า ไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะเป็นอำนาจและหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องวินิจฉัยและมีมติในเรื่องนี้ เมือมีพรรคการเมืองยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคของตัวเอง จึงหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะยุบพรรคตามคำร้องเท่านั้น แต่ปัญหาที่ตามมาหลังจากมีมติของ กกต.ให้ยุบพรรคประชาชนปฎิรูปแล้ว จะต้องพิจารณาในปัญหาอยู่4ประเด็น คือ

1.เมื่อพรรคประชาชนปฎิรูปยุบตัวเองลง จะทำให้คะแนนของพรรคในระบบบัญชีรายชื่อถูกยุบไปด้วยหรือไม่ เพราะถ้าคะแนนของพรรคถูกยุบหายไป จะทำให้ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคสิ้นสภาพไปด้วยหรือไม่

2.เมื่อพรรคประชาชนปฎิรูปยุบตัวเอง และ ส.ส.ของพรรคประกาศตัวไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ จะต้องนำคะแนนของพรรคประชาชนปฎิรูปไปรวมกับคะแนนของพรรคพลังประชารัฐได้หรือไม่ และมีวิธีการรวม และคิดสัดส่วนคะแนนกันอย่างไร

3.ถ้าหากการนำคะแนนของพรรคประชาชนปฎิรูป จะไปรวมกับคะแนนของพรรคพลังประชารัฐได้หรือไม่ก็ตาม ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาชนปฎิรูป จะไปอยู่ใน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ในลำดับที่เท่าไหร่

4.ถ้า ส.ส.ของพรรคประชาชนปฎิรูป ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ เฉพาะตัว ส.ส.เท่านั้น อยากถามว่า คะแนนของพรรคประชาชนปฎิรูปที่หายไปจะทำอย่างไร จะขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ ที่ยึดหลักทุกคะแนนจะไม่ตกน้ำ

นายเทพไท ระบุว่า ตนอยากจะให้จับตาดูคำวินิจฉัยของศาลธรรมนูญว่าจะออกอย่างไร เพราะจะเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองในวันข้างหน้า ถ้าการยุบพรรคประชาชนปฎิรูปในครั้งนี้ สามารถทำได้ และทำให้ส.ส.ย้ายพรรคได้ตามสะดวกเช่นนี้ เลือกตั้งครั้งต่อไป เชื่อได้ว่าจะมีพรรคการเมืองหลายพรรค ใช้วิธีการแยกตัว มาตั้งพรรคสาขา พรรคนอมินี พรรคคู่ขนาน พรรคแนวร่วม พรรคพี่พรรคน้อง เพื่อลงสนามเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งเสร็จก็ยื่นคำร้องยุบพรรคเพื่อรวมกับพรรคการเมืองหลัก ทำให้เกิดพรรคการเมืองใหญ่ มีความเข้มแข็ง เพื่อจะได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป และเราก็จะหนีสังคมการเมืองแบบศรีธนญชัยไปไม่พ้นแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง