ไม่พบผลการค้นหา
สนทช.ชี้ระบบ SEA แก้ไขปัญหาลุ่มน้ำมูล เชื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด เพราะรับฟังเสียงคนในพื้นที่ประเมินสถานการณ์และความต้องการได้แน่นอน ระบุผลการศึกษาใกล้เสร็จตามแผนในเดือน ก.พ.นี้

ในการเสวนาเรื่อง SEA ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำมูล อย่างยั่งยืนได้จริงหรือ จัดโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รัฐบาลจึงมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ซึ่งในอดีตเป็นการแก้ปัญหาจากภาครัฐ จึงแก้ไม่ตรงจุด ดังนั้นเมื่อนำกระบวนการของแนวคิดหลักของการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เข้ามา ซึ่งเป็นการรับฟังปัญหาและความต้องการแก้ไขปัญหาจากพื้นที่โดยตรง จะทำให้ตอบโจทก์การแก้ไขปัญหาได้ดีมากยิ่งขึ้น เพราะคนในพื้นที่ยอมรู้ดีว่าต้องการแก้ไขปัญหาอะไร 

"การแก้ไขปัญหาน้ำแก้ไขอย่างถูกต้องทางวิชาการ แต่ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยการตั้งโครงการของระดับพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหา ดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ามาสะท้อนมุมมองความเห็น เพราะบางครั้งเราอาจมองไม่เห็นภาพรวมได้ ไม่เหมือนกับชาวบ้านในพื้นที่ ที่รู้จักพื้นที่ดีกว่า แต่ทั้งนี้หากเสนอโครงการมาไม่สอดคล้องกัน ต้องกลับไปทบทวน เพื่อให้เกิดความเชื่อมต่อกันทั้งระบบ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ สทนช.เป็นผู้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้ ว่าใครจะทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐด้วย ต้องออกแบบงานที่เกี่ยวกับน้ำให้สอดคล้องกัน" สมเกียรติ กล่าว

สมเกียรติ กล่าวว่า การเลือกแบบแผนบริหารจัดการน้ำ ต้องเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยเสนอไปที่กรรมการชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นก่อนดำเนินการต่อไป ทั้งนี้การทำงานเป็นในเชิงป้องกัน เพื่อให้เป็นแผนการทำงานระยะยาว อย่างไรก็ตามการทำงานตามแผนต้องทำให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่เช่นนั้นอาจจะเห็นภาพการขาดแคลนน้ำ ทั้งนี้ต้องจัดการปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำ 

เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า ผลการศึกษาใกล้เสร็จตามแผนภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อนำไปสู่การประเมินทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และสรุปผลการศึกษา SEA ให้กับหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่นำไปสู่การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลอย่างสมดุลและยั่งยืน เพราะต้องยอมรับว่าธรรมชาติไม่แน่นอน บางปีน้ำมาก บางปีน้ำน้อย

สมเกียรติ สทนช

รศ.ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฏ ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEA กล่าวว่า เมื่อได้ข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์ ผ่านหลักเกณฑ์ในแต่ละมิติ โดยมีตัวชี้วัดในแต่ละมิติทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เมื่อได้ทางเลือกแล้ว เสนอความคิดเห็นครอบคลุมการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น กลางและยาวด้วย 

ด้าน รศ.ดร.สายสุนีย์ พุทธาคุณเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุทกวิทยาลุ่มน้ำมูลมีพื้นที่ถึง 44 ล้านไร่ แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน มีฝนตกไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำ ต้องหาความเชื่อมโยง เอ็กเรย์ไปในจุดย่อยๆ ในชุมนุม ได้แผนออกมาจัดลำดับความสำคัญ และนำกลับมานำเสนอกับ สนทช. ซึ่งแผนเร่งด่วนเริ่มต้น คือการเก็บเกี่ยวน้ำฝนให้ได้มากที่สุด รวมถึงการเก็บกักน้ำให้มีความเชื่อมโยง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด