ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังปรับประมาณการจีดีพีปี 2562 อีกครั้ง คาดทั้งปีโตร้อยละ 2.8 ครึ่งหลังกระเตื้องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ส่งออกทรุดติดลบร้อยละ 2.5 ส่วนปีหน้าคาดจีดีพีโตร้อยละ 3.3 ส่งออกเป็นบวก เตือนผลกระทบถูกลดสิทธิพิเศษ GSP สะเทือนส่วนแบ่งตลาดส่งออกไทยในสหรัฐฯ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ช่วงครึ่งหลังของปี 2562 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 หลังจากครึ่งแรกของปีขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 ส่งผลให้คาดว่าทั้งปีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2562 จะอยู่ที่อัตราร้อยละ 2.8 หรือมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 2.6-30 โดยเป็นการชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.1

โดยปัจจัยสนับสนุนให้ช่วงครึ่งหลังของปีมาจากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน การออกมาตรการลดต้นทุนการเพาะปลูก การประกันรายได้เกษตรกร โครงการชิมช้อปใช้ มาตรการดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ผ่านการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดทะเบียนจำนองให้ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณที่สนับสนุนการใช้จ่ายของภาคประชาชน

ส่วนปัจจัยลบมาจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลให้ประมาณการส่งออกปี 2562 อยู่ที่ ติดลบร้อยละ 2.5 จากช่วงคาดการณ์ ลบร้อยละ 2.7-ลดร้อยละ 2.3 จากปีที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวร้อยละ 7.5 ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดปี 2562 คาดว่าจะเกินดุลอยู่ที่ 3.35 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.2 ของจีดีพี จากปีก่อนเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 3.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 6.4 ของจีดีพี

ด้านเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2562 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ปรับตัวลดลงจากปีก่อนตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลง อย่างไรก็ดี สศค. ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 62.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 69.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล 

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 31.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีก่อนหน้าอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 32.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ 

ห่วงส่วนแบ่งการตลาดส่งออกไทยไปสหรัฐฯ กระทบหนัก หากถูกตัดสิทธิ GSP

สำหรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.3 หรือมีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 2.8-3.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวมาจากการใช้จ่ายภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐ ส่วนการส่งออกคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.6 ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจปีหน้าขยายตัวในระดับที่ประเมินไว้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามสำหรับการเติบโตเศรษฐกิจปี 2563 อยู่ที่การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ เบร็กซิต รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน  

ส่วนกรณีสหรัฐฯ ประกาศจะยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP ไทย ซึ่งจะมีผลในอีก 6 เดือนข้างหน้า (เม.ย. 2563) นั้น นายลวรณ ให้ความเห็นว่า เนื่องจากประกาศดังกล่าวกว่าจะมีผลคือ 6 เดือนข้างหน้า ดังนั้นทางการไทยผ่านกระทรวงพาณิชย์จึงยังมีเวลาเจรจากับทางการสหรัฐฯ ในระยะเวลา 6 เดือนนี้ อีกทั้งหากจะมีผลกระทบเกิดขึ้นจะเกิดกับสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งโดยมูลค่าอาจไม่สูงนัก แต่สิ่งที่จะกระทบหนักคือ การรักษาส่วนแบ่งการตลาดของภาคส่งออกไทยในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ 

"มูลค่าการค้าที่จะได้รับผลกระทบ หากไทยถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีอาจไม่มาก แต่สิ่งที่น่าห่วงคือส่วนแบ่งตลาดของส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นตลาดส่งออกสำคัญระดับต้นๆ ของไทย" นายลวรณ กล่าว

ส่อง 5 สมมติฐานดันเศรษฐกิจโตตามเป้า

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สศค. เปิดเผยว่า สมมติฐานในประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 และปี 2563 มาจาก 5 ด้านได้แก่ 

หนึ่ง การวิเคราะห์ทิศทางอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก 15 แห่ง ซึ่งคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.3 ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.5 โดยการปรับลดคาดการณ์นี้มีน้ำหนักมาจากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นสำคัญ 

สอง อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.3 และคาดการณ์ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 31.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่าเมื่อเทียบปีก่อนร้อยละ 3.8 ส่วนปี 2563 คาดว่า เงินบาทจะอยู่ที่ 30.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรือแข็งค่าจากปีนี้ร้อยละ 1.1 

สาม ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดว่าราคาน้ำมันจะอยู่ที่ 62.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2562 และอยู่ที่ 61.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในปี 2563 ทั้งนี้ คาดว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลง ตามความต้องการใช้ในตลาดโลกลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงปัจจัยเรื่องสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ จะส่งผลให้มูลค่าการค้าโลกลดลง ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในการขนส่งทางบก เรือ อากาศลดลงได้ ขณะที่สำนักงานด้านสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ หรือ EIA ระบุด้วยว่าสต็อกน้ำมันที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าด้วย

สี่ จำนวนนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าปี 2562 จะอยู่ที่ 39.8 ล้านคน ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ 40 ล้านคน ส่วนปี 2563 คาดว่าอยู่ที่ 41.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามและมีผลการภาคท่องเที่ยว ได้แก่ มติ ครม. ต่ออายุมาตรการ Visa On Arrival ถึง 30 เม.ย. 2563, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว, การจัดอีเวนต์ต่างๆ , การเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวและการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งในเดือนที่ผ่านมา ถือว่ามีการขยายตัวสูงสุดในรอบ 15 เดือน และปัจจัยค่าเงินบาทที่แข็งค่าซึ่งจะทำให้ต้นทุนของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 

ห้า รายจ่ายภาคสาธารณะ ที่คาดว่าในปีงบประมาณ 2562 จะมีการเบิกจ่ายงบรายจ่ายประจำได้ร้อยละ 98 เบิกจ่ายงบลงทุนร้อยละ 70.3  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :