ไม่พบผลการค้นหา
ในหลายประเทศยังคงไม่ให้การยอมรับกองทัพเมียนมาในการเป็นผู้ปกครองอย่างเป็นทางการ หลังจากกองทัพเมียนมาที่นำโดย พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ อองซาน ซูจี ในขณะที่คดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญายังคงค้างอยู่ในศาลของสหประชาชาติ

อย่างไรก็ดี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพิ่งรับรองให้เผด็จการเมียนมาขึ้นรับฟังการพิจารณคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาแทนที่ อองซาน ซูจี ในฐานะผู้นำรัฐบาลพลเรือนแล้ว หลังจากที่กองทัพเมียนมาได้เข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจมาตั้งแต่ 1 ก.พ. 2564 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การยึดอำนาจดังกล่าวจะยิ่งทำให้การพิจารณาคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาถูกประวิงเวลาออกไป

การฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ถูกนำขึ้นพิจารณาในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2560 โดยประเทศแกมเบีย หลังจากที่กองทัพเมียนมาได้ทำการเข้าปราบปรามชาวโรฮิงญานรัฐยะไข่ของเมียนมา จนทำให้ชนกลุ่มน้อยมุสลิมดังกล่าวต้องอพยพลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังบังคลาเทศกว่า 700,000 คน

คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนของสหประชาชาติชี้ว่า การปราบปรามชาวโรฮิงญาโดยกองทัพเมียนมานั้น มี “เจตนาในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” โดยก่อนหน้าการรัฐประหาร อองซาน ซูจี ได้ขึ้นการให้การต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องเมียนมาจากข้อหาการสังหารหมู่ ข่มขืน และทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวมุสลิมโรฮิงญาโดยฝีมือของกองทัพเมียนมา อองซาน ซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการปกป้องกองทัพจากข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งเป็นความพยายามในการถ่วงดุลอำนาจในประเทศของรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ

ปัจจุบันนี้ อองซาน ซูจี ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมตัวของกองทัพเมียนมา และตำแหน่งการขึ้นรับฟังการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงยาของเธอจะถูกแทนที่โดย โคโคหล่ายน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพเมียนมา และ ธีดา โออ์ อัยการสูงสุดของเมียนมา อย่างไรก็ดี ทั้งสองเป็นบุคคลที่ถูกทางการสหรัฐฯ คว่ำบาตร จากการที่กองทัพเมียนมาใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ต่อต้านการรัฐประหาร

กองทัพเมียนมากล่าวหาแกมเบียว่าประเทศดังกล่าวไม่มีสิทธิตามกฎหมายในการฟ้องร้องเมียนมาต่อกรณีการปราบปรามชาวโรฮิงญาในประเทศ โดยกองทัพเมียนมาระบุว่า ชาวโรฮิงญาไม่ใช่พลเมืองของเมียนมา ก่อนกล่าวหาอีกว่าแกมเบียมีสถานะเป็น “ผู้ทำสงครามตัวแทน” จากองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ในการเล่นงานเมียนมา และแกมเบียไม่เข้าใจในเรื่องการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งต้องเป็นกรณีฟ้องร้องเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐเท่านั้น

โคโคหล่ายน์ได้ขึ้นให้การต่อศาลว่า เผด็จการเมียนมาพร้อมและตั้งใจที่จะหาทางแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ “ผ่านการเจรจาและการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กันด้วยสันติวิธี” ในขณะที่มีหลักฐานจากทางองค์กรประชาสังคมชี้ว่า กองทัพเมียนมากลับมาการปราบปรามประชาชนอย่างหนัก ตั้งแต่เกิดการทำรัฐประหารในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ยางฮี ลี อดีตผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เรียกร้องว่า “ศาลควรจะให้การรับรองเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)” ในการเป็นตัวแทนของเมียนมาเพื่อขึ้นรับฟังการพิจารณาคดีแทนกองทัพเมียนมาที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลพลเรือนแทน 

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/feb/21/myanmar-junta-to-take-place-of-suu-kyi-at-icj-hearings-into-rohingya-genocide-claims?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR1W7crS_IA55aR2oOPO9nsBwAVXRBa2w5zttG9Yv3TcMJvxkOCtvMeg6bw

https://www.aljazeera.com/news/2022/2/21/myanmar-rohingya-genocide-case