น.ส.กรทิพ วงศ์ตะวัน อายุ 43 ปี ชาวจังหวัดแพร่ น.ส.สมหมาย วงศ์ตะวัน อายุ 38 ปี และ นายสมพร วงศ์ตะวัน อายุ 75 ปี และนางพริ้ง วงศ์ตะวัน อายุ 71 ปี ร้องว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังจากที่มีจดหมายจากสำนักงานบังคับคดี จ.แพร่ มาติดหน้าบ้าน ว่าบ้านหลังดังกล่าวถูกขายทอดตลาดไปแล้ว จากการเป็นหนี้ กยศ. 17,000 บาท แต่กลับถูกฟ้องบังคับคดียึดบ้านไปขายทอดตลาดในราคา 2 ล้านกว่าบาท
น.ส.กรทิพ และน.ส.สมหมาย กล่าวว่า เมื่อปี 2541 น.ส.สมหมาย ได้กู้ กยศ.เรียนที่วิทยาลัยเกษตรแพร่ เพื่อเรียนต่อระดับอาชีวศึกษา หลังจากเรียนจบได้ทยอยส่งเงินคืนกองทุน กยศ. มาตลอด ต่อมาได้ย้ายไปทำงานต่างจังหวัด จึงขาดส่งไประยะหนึ่ง เหลือยอดที่ค้าง กยศ. ประมาณ 17,000 บาท จนกระทั่งมีหนังสือมาติดหน้าบ้านว่าเป็นทรัพย์สินถูกขายทอดตลาดแล้ว ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ต่างจังหวัด พ่อ แม่ และลุงที่อยู่บ้านไม่รู้หนังสือ จึงถ่ายรูปส่งไปให้ดู พอเห็นรีบกลับบ้านมาจนรู้ว่าบ้านถูกขายไปแล้ว
ทั้งคู่รู้สึกตกใจและไม่เข้าใจเพราะบ้านที่ถูกขายทอดตลาดเป็นชื่อพ่อตน ซึ่งพ่อไม่ได้เป็นคนค้ำประกัน เป็นเพียงคู่สมรสของแม่ที่เป็นผู้ค้ำประกัน โดยมีบ้านอยู่ติดกัน สำหรับบ้านของน้องสาว ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านอีกหลังไม่ถูกยึด แต่กลับเลือกบ้านพ่อซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ที่สุด หลังจากทราบเรื่องจึงรีบเดินทางกลับมาบ้านและเข้าติดต่อกับสำนักงานบังคับคดี ก็ให้ไปติดต่อกับศาล เพราะศาลตัดสินแล้วสิ้นสุดแล้ว จากนั้นจึงไปที่ศาลต่อได้รับคำตอบเหมือนเดิมจนท้อใจ เข้าร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวขอให้ช่วยเหลือ
ด้านนายอภิชัย อุ่นตา ผู้ใหญ่บ้านวังวน หมู่ที่ 3 หลังทราบข่าวเข้ามาสอบถามและขอให้สื่อช่วยเหลือลูกบ้านเพราะไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน
ด้าน น.ส.นภาพร เยาวรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ ได้รับเรื่องไว้และได้ประสานประสานเจ้าหน้าที่จากกรมบังคับคดีชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีลำดับขั้นตอนในการยึดทำไมไม่ยึดคนกู้คนค้ำ แต่ไปยึดบ้านคู่สมรส พร้อมกับประสานสำนักงานยุติธรรมเข้ามารับเรื่องตามลำดับ
ด้านนางสาวกฤษณา กล้าพนัส ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดี จ.แพร่และนางจิรพร เพิ่มพูน ยุติธรรม จังหวัดแพร่ เข้ามาที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดแพร่ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและไม่ยินยอมให้ผู้สื่อข่าวอยู่ในระหว่างพูดคุยและไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด
กยศ.แจงสืบทรัพย์มาตั้งแต่ปลายปี 61 พยายามติดต่อผู้กู้ทุกทาง
ด้านนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า กองทุนได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พบว่าผู้กู้ยืมถูกดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2551 และศาลได้มีคำพิพากษาให้ชำระหนี้เงินต้น จำนวน 17,868 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่ผู้กู้ยืมไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้นกองทุนจึงจำเป็นต้องดำเนินการสืบทรัพย์บังคับคดี เมื่อปลายปี 2561 ช่วงต้นปี 2562 ผู้กู้ยืมได้ชำระหนี้เพียงบางส่วน และไม่ได้ติดต่อกองทุนเพื่อทำบันทึกข้อตกลงงดการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้
ทั้งนี้ หากผู้กู้ยืมหรือผู้ค้ำประกันมาติดต่อสามารถของดการขายทรัพย์และผ่อนชำระหนี้ได้อีก 6 ปี ต่อมาสำนักงานบังคับคดีจังหวัดแพร่ได้ดำเนินการประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยขายแบบติดจำนอง เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2563 และมีบุคคลภายนอกซื้อได้ในราคา 30,000 บาท โดยการขายครั้งนี้เป็นการขายครั้งที่ 11 ซึ่งในการขายทุกครั้งที่ผ่านมาไม่มีผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกันมาดูแลการขาย
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า กองทุนขอชี้แจงว่า ก่อนที่จะมีการบังคับคดี กองทุนพยายามติดต่อกับผู้กู้ยืม และผู้ค้ำประกันทั้งทางจดหมายและทางโทรศัพท์ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนการติดตามหนี้มาโดยตลอด จนสุดท้ายกองทุนมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย โดยยึดทรัพย์ของผู้ค้ำประกันก่อนที่คดีจะขาดอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากเงินกู้ยืมเป็นเงินงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของประชาชน อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้รายนี้ กองทุนได้ประสานงานกับผู้ซื้อทรัพย์เพื่อให้ความช่วยเหลือ ซึ่งในเบื้องต้นผู้ซื้อทรัพย์ยินดีขายทรัพย์คืนให้แก่ผู้ค้ำประกันในราคาซื้อ
"กองทุนขอฝากถึงผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกันที่ถูกบังคับคดี ขอให้มาติดต่อที่กองทุน เพื่อจะได้โอกาสในการผ่อนชำระได้อีกไม่เกิน 6 ปี และขอฝากเรื่องการค้ำประกันการกู้ยืมใดๆ ขอให้ผู้ค้ำประกันตระหนักว่า จะเป็นภาระผูกพันทางกฎหมาย โดยขอให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้เป็นปกติเพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้อง จนเดือดร้อนถึงผู้ค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบิดามารดาและญาติ" นายชัยณรงค์ กล่าว