สำนักงานการศึกษาของนครลอสแอนเจลิสในสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า นับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสั่งให้ดำเนินการเรียนการสอนระยะไกลผ่านอินเทอร์เน็ตเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา มีนักเรียนอย่างน้อย 15,000 คนในลอสแอนเจลิสที่ไม่เคย 'ล็อกอิน' เข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อแสดงตัวเข้าชั้นเรียน ทั้งยังไม่สามารถติดต่อได้ ขณะที่อีก 40,000 คน ไม่ได้เข้ามารายงานตัวเป็นประจำ
LA Times สื่อท้องถิ่น รายงานว่านักเรียนกลุ่มที่ขาดเรียนและเข้าเรียนไม่สม่ำเสมอ คิดเป็น 1 ใน 3 ของนักเรียนทั้งหมดในลอสแอนเจลิส เจ้าหน้าที่สำนักงานการศึกษาจึงวิตกกังวลว่าเด็กเหล่านี้จะเรียนไม่ทันเพื่อน ขาดโอกาสทางการศึกษา และคาดว่าสาเหตุน่าจะอยู่ที่เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตจากที่พักได้ หรือไม่ก็ขาดแคลนอุปกรณ์เข้าระบบการเรียนการสอนออนไลน์
ไม่เพียงแต่เด็กนักเรียนที่กำลังประสบปัญหานี้ ผู้สูงอายุในสหรัฐฯ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวเมือง ก็กำลังวิตกว่าอาจจะไม่มีโอกาสเข้าพบแพทย์ได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยสำนักข่าว AP รายงานอ้างอิงประชากรในแถบชนบทของสหรัฐฯ พบว่ามีผู้ประสบปัญหาขาดแคลนระบบอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก
เอพียกตัวอย่างเมืองแซนด์วิชในรัฐนิวแฮมป์เชียร์ มีประชากรอายุเกิน 65 ปีที่มีโรคประจำตัว แต่การนัดพบแพทย์ในขณะนี้ต้องใช้วิธี 'นัดหมายออนไลน์' เพื่อขอรับการวินิจฉัยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต กลุ่มคนเหล่านี้จึงไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์โดยตรงเหมือนเดิมได้ เพราะมีการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะทางสังคม (social distancing) และผู้สูงอายุยังได้รับคำแนะนำด้วยว่า ควรหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาล เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่
อย่างไรก็ตาม กลุ่มประชากรสูงอายุในพื้นที่ห่างไกลไม่มีระบบสาธารณูปโภคทางด้านดิจิทัลมารองรับ เช่นเดียวกับที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบเหล่านี้เพียงพอ
คณะกรรมาธิการการสื่อสารแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ FCC ประเมินว่า ประชากรที่ไม่มีหรือเข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในที่พักอาศัย มีจำนวนประมาณ 21 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดราว 327 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ BroadbandNow องค์กรไม่แสวงผลกำไรของเอกชนที่รณรงค์ให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้อย่างทั่วถึง ประเมินว่าสถิติผู้ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ใช้งานในสหรัฐฯ น่าจะสูงถึง 42 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งมากกว่าที่ FCC ประเมินหนึ่งเท่าตัว
ปัญหาคนเข้าไม่ถึงแหล่งข้อมูลหรือการบริการทางอินเทอร์เน็ตสามารถเกิดขึ้นได้แม้แต่ในประเทศชั้นนำด้านเศรษฐกิจและเป็นมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐฯ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าหากว่าประเทศอื่นๆ อีกหลายแห่งทั่วโลกจะประสบปัญหานี้เช่นกัน
ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีของฮ่องกง เขตบริหารพิเศษจีน ซึ่งสื่อรายงานว่า นักเรียนฐานะยากจนประสบปัญหา 'เข้าไม่ถึง' ทรัพยากรออนไลน์ เพราะการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ตเป็นภาระของครอบครัวที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายตามปกติ แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการรองรับหรือช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนเหล่านี้
ขณะเดียวกัน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' หรือ HRW องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลภายในประเทศของตัวเองอย่างเร่งด่วน โดยระบุว่า 46 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกกว่า 7,500 ล้านคน ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตได้ รวมถึงไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งเป็นการอ้างอิงข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ของสหประชาชาติ
ด้วยเหตุนี้ เมื่อหลายประเทศออกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing จึงทำให้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบ ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องการขาดแคลนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่จะเข้าถึงระบบออนไลน์ต่างๆ อีกด้วย HRW จึงย้ำว่า รัฐบาลทั่วโลกมีหน้าที่จัดหาและอำนวยความสะดวกในเยาวชนในประเทศมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
ภาพ: Martin Sanchez on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: