ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยของอังกฤษชี้ 'โรคอ้วน' เป็นสาเหตุก่อมะเร็งยิ่งกว่าการสูบบุหรี่ แต่บางฝ่ายโจมตีงานวิจัยชิ้นนี้ว่าเป็นการ 'เหยียดคนอ้วน'

งานวิจัยล่าสุดจากศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร (CRUK) ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า โรคอ้วน เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งไต มะเร็งรังไข่ และมะเร็งตับ มากกว่าการสูบบุหรี่

นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ว่าปัจจุบันประชากรนับล้านๆ คนกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงมะเร็งเนื่องจากมีน้ำหนักตัวที่มากเกินพอดี และจำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินยังมีมากกว่าประชากรที่สูบบุหรี่ในสัดส่วน 2 ต่อ 1

การเหยียดรูปลักษณ์

หลังจากตีพิมพ์งานวิจัยแล้ว ศูนย์วิจัยมะเร็งฯ ก็ออกมาทำแคมเปญสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนผ่านป้ายโฆษณา และในแคมเปญดังกล่าว ศูนย์วิจัยมะเร็งฯ เลือกที่จะดึงดูดความสนใจของประชาชนด้วยการนำเสนอคำว่า "โรคอ้วน" ไว้ด้านหน้าซองบุหรี่ เพื่อตอกย้ำว่า การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไปสร้างความเสี่ยงในการพัฒนาเซลล์มะเร็งได้เท่าๆ กับการสูบบุหรี่

Unsplash-น้ำหนัก

Photo by i yunmai on Unsplash

แทนที่แคมเปญจะนำมาซึ่งการตระหนักรับรู้ถึงความเสี่ยงของโรคอ้วน ในโซเชียลมีเดียกลับมีกระแสตอบโต้กลับว่าศูนย์วิจัยมะเร็งฯ เข้าข่ายเหยียดคนอ้วน 

ทวิตเตอร์ราบหนึ่ง (@KenLynch73) กล่าวว่า : "การเชื่อมโยงโรคอ้วนกับคำเตือนบนซองบุหรี่เป็นมุกเสื่อม"

ขณะที่ศูนย์วิจัยมะเร็งฯ ออกมาชี้แจงว่า องค์กรไม่มีเจตนาในการเหยียดใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งไม่ได้มีเจตนาจะเชื่อมโยงระหว่างโรคอ้วนและคำเตือนบนซองบุหรี่ด้วยเช่นกัน แต่ต้องการออกมาทำให้ผู้คนตระหนักถึงข้อเท็จจริงจากผลวิจัยเท่านั้น

สัดส่วนมะเร็งที่เกิดจาดโรคอ้วนและการสูบบุหรี่จากงานวิจัยเป็นดังนี้

  • มะเร็งลำไส้ จากทั้งหมด 42,000 กรณี เกิดจากโรคอ้วน 4,800 กรณี และเกิดจากการสูบบุหรี่ 2,900 กรณี
  • มะเร็งไต จากทั้งหมด 12,900 กรณี เกิดจากโรคอ้วน 2,900 กรณี และเกิดจากการสูบบุหรี่ 1,600 กรณี
  • มะเร็งตับ จากทั้งหมด 5,900 กรณี เกิดจากโรคอ้วน 1,300 กรณี และเกิดจากการสูบบุหรี่ 1,200 กรณี
  • มะเร็งมดลูก จากทั้งหมด 7,500 กรณี เกิดจากโรคอ้วน 490 กรณี และเกิดจากการสูบบุหรี่ 25 กรณี

บทบาทของรัฐบาล

ศูนย์วิจัยมะเร็งฯ กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งอันดับที่ 1 แต่ก็เป็นปัจจัยที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่โรคอ้วนตามมาเป็นอันดับที่ 2 อย่างไรก็ตาม การตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงนี้ยังมีอย่างจำกัด

Unsplash-บุหรี่

Photo by Julia Engel on Unsplash

ศาสตรจารย์ ลินดา บอลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการเกิดมะเร็ง จากศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการปัญหาตรงนี้ให้มากขึ้น การสร้างมาตรฐานการโฆษณาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ยังดำเนินการช้าเกินไป

เธอปิดท้ายว่า ขณะที่พวกเราทราบถึงความเสี่ยงโรคต่างๆ ที่มาพร้อมกับการสูบบุหรี่ ความพยายามในการประชาสัมพันธ์ถึงความเสี่ยงของโรคที่มากับภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินยังมีน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่โรคอ้วนกลายเป็นตัวการสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งแล้ว 

อ้างอิง; BBC, The Guardian, The Independent