ไม่พบผลการค้นหา
จาตุรนต์ ฉายแสง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงระเบียบการหาเสียงเลือกตั้งของทาง กกต. ที่ยังคลุมเครือ ย้ำตนพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง แต่ต้องยืนอยู่บนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงความเห็นเกี่ยวกับระเบียบการหาเสียง และข้อห้ามในการหาเสียงที่ออกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่า นักการเมืองยังใช้เฟซบุ๊กได้หรือไม่ ซึ่งในระเบียบว่าด้วยการหาเสียงด้วยโซเชียลมีเดีย กำหนดให้ผู้สมัครแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง ระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้เลขาธิการ กกต. ทราบตั้งแต่วันสมัครรับเลือกตั้ง หรือก่อนดำเนินการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัญหาที่ไม่ชัดเจนคือความหมายของคำว่า "หาเสียง" ที่ไม่ได้มีการนิยามไว้ 

ถ้าจะหมายถึงการบอกให้เลือกคนนั้นคนนี้ เบอร์นั้นเบอร์นี้ แล้วก่อนวันสมัครมีอะไรที่ถือว่าเป็นการหาเสียงหรือไม่หาเสียง โดยส่วนตัวเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพ ถ้าบอกให้เลือกคนนั้นคนนี้ก็ชัดเจนว่าหาเสียง พอฟังได้ว่าต้องตามระเบียบ แต่ยังไม่ถึงวันสมัคร หรือแม้แต่สมัครแล้วการแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ จำนวนมากจะว่าเป็นการหาเสียงก็ไม่ได้ ไม่เข้าข่ายตามระเบียบนี้อยู่ดี ซึ่งกกต. ควรมีความชัดเจนในเรื่องนี้

ส่วนเรื่องที่ชาวโซเชียลชอบใครเชียร์ใครได้ไหม มีการพูดถึงการคิดค่าใช้จ่ายในการใช้โซเชียลมีเดียเป็นค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือของพรรคในกรณีที่ไม่เป็นผู้สมัครหรือไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใช้โซเชียลมีเดียช่วยหาเสียง ถึงขนาดว่าถ้าทำไปแล้วผู้สมัครหรือพรรคไม่ไปห้าม จะคิดเป็นค่าใช้จ่าย

เรื่องนี้สับสนมาก แต่ที่น่าเป็นห่วงไม่ใช่แค่เรื่องค่าใช้จ่าย แต่เรื่องใหญ่กว่าคือมีคำถามว่าคนทั่วไปจะเชียร์ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้หรือไม่ จะกลายเป็นต้องไปคิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครจนต้องขอร้องให้หยุดไหม แล้วเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหายไปไหน ใครชอบใครก็มีสิทธิจะเชียร์คนนั้นไม่ใช่หรือ

ซึ่งจะคล้ายกับการเลือก สว. ในอดีต ที่ไม่อนุญาตให้ใครพูดว่าสนับสนุนใคร ไม่ชอบใคร จำกัดเสรีภาพของผู้คน ที่ กกต. อาจไม่ได้นึกถึง คือมัวแต่หาทางสกัดการหาเสียงช่วยคนนั้นคนนี้ ถ้าเข้มงวดเด็ดขาดจะกลายเป็นไปส่งเสริมการหาเสียงทางลบ ซึ่งไม่คิดค่าใช้จ่าย ก็จะเกิดการโจมตีวิพากษ์วิจารณ์กันหนักกว่าปกติ

การหาเสียงในทางสร้างสรรค์กลับทำได้น้อยกว่า ทั้งหมดเกิดจากการที่ กกต. ไม่เข้าใจคำว่า เสรีภาพ กฎกติกาจึงออกมาอย่างนี้

การโพสต์ดังกล่าวของนายจาตุรนต์ เกิดขึ้นภายหลังจากที่วานนี้ (23 ม.ค.) มีการออกประกาศเรื่องการหาเสียง และข้อห้ามในการหาเสียงจาก กกต. และมีหลายคนแนะนำให้นายจาตุรนต์ อย่าหาเสียง หยุดแสดงความคิดเห็น และปิดเพจไปก่อน

นายจาตุรนต์ ระบุถึงอีกกรณีที่น่าสนใจคือ ระเบียบว่าด้วยการเชิญพรรคการเมืองไปออกรายการทีวีซึ่งกกต.เขียนไว้ดูดีทีเดียวว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์อาจเชิญพรรคการเมืองไปออกรายการเพื่อแสดงวิสัยทัศน์หรืออภิปรายเชิงนโยบายหรืออาจจัดรายการให้พรรคการเมืองตอบข้อซักถามหรือแสดงความคิดเห็นก็ได้ แต่ในข้อเดียวกันกลับมีเงื่อนไขว่า ในการดำเนินการตามนี้ ให้สถานีพิจารณาตามหลักวิชาชีพและจรรยาบรรณโดยต้องพิจารณาให้พรรคการเมืองมีโอกาสเท่าเทียมกัน

ปัญหาอยู่ที่มีโอกาสเท่าเทียมกันนี่แหละครับ ในรายการหนึ่งๆจะต้องเชิญหลายสิบพรรคการเมืองในครั้งเดียวหรือตเชิญครั้งละ2-3 คน แล้วทยอยไปจนครบทุกพรรค ไม่ว่าวิธีไหนก็จะพบว่ารายการจะไม่น่าสนใจจนคนไม่ดูรายการแบบนี้ ซึ่งก็แปลกและน่าเสียดายที่ปัจจุบันมีสถานีโทรทัศน์เกิดขึ้นหลากหลายมากมายเต็มไปหมด ไม่นับ ไฟล์เฟสบุ๊คที่จะเกิดขึ้นมากแค่ไหนก็ได้ แต่ทีวีและช่องทางเหล่านี้อาจไม่ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์เลย สื่อก็จะอยู่กันอย่างซบเซาและประชาชนก็จะไม่ได้รับข้อมูลว่าพรรคไหนมีนโยบายอย่างไร นักการเมืองคนไหนคิดอย่างไร


ครั้นจะไปฟังการปราศรัยที่กกต.จะจัดให้พรรคการเมืองพูดประชันกันก็ยิ่งน่าเบื่อไปอีกแบบ คือพอมีพรรคการเมืองหลายสิบพรรคมาพร้อมกัน พูดคนละ 5 นาที คนก็ไม่ไปฟัง ที่ผ่านมา การปราศรัยแบบนั้น มักมีแต่ผู้สมัครไปกับผู้ช่วยหาเสียง คราวนี้เขาจะให้มีได้คนละ 20 คน ถ้าไปกันสัก 50 พรรคก็อาจมีคนฟัง 1,000 คน แต่คนที่จะเลือกคุณก็คือ 20 คนที่เลือกอยู่แล้วเท่านั้นเอง คิดได้อย่างนี้ จริงๆก็ไม่มีใครไปหรอกครับ นี่คือการหาเสียงที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้ากกต.ไม่เปิดใจกว้าง แล้วปรับปรุงกฎระเบียบเสียใหม่อย่างจริงจังครับ

"ปิยบุตร" ชี้ ปชช.ต้องมีเสรีภาพแสดงออก- อย่ากลัว "โพสต์โซเชียล" หนุนพรรคการเมือง 

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงกรณีนักการเมืองหลายคนหยุดโพสต์โซเชียลมีเดีย และประชาชนจำนวนมากสอบถามเข้ามาว่าสามารถโพสต์แสดงความคิดเห็นเชียร์พรรคการเมืองต่างๆ ได้หรือไม่ ว่า หลังจากมี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งออกมาเมื่อวานนี้ ก็เกิดความโกลาหล อลหม่าน เข้าใจผิดกันไปหมด คิดว่าจะโพสต์แสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียไม่ได้ ขอยืนยันว่า สำหรับประชาชน บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นผู้สมัคร ส.ส. ไม่ได้เป็นตัวแทนของพรรคการเมือง ยังมีเสรีภาพแสดงความคิดเห็น สังคมประชาธิปไตยต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น และนี่คือหัวใจสำคัญ

"ระเบียบ กกต. เรื่องการหาเสียง ใช้เฉพาะกับผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองเท่านั้น โดยเงื่อนไขมีอยู่เพียงว่า ให้ไปแจ้งกับ กกต. ว่าจะใช้เพจอะไรเป็นทางการ ก่อนที่จะเริ่มต้นหาเสียง ก่อนที่จะเป็นผู้สมัคร ส.ส. ส่วนพี่น้องประชาชนทั่วไป ยังใช้เสรีภาพของท่านได้ ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จะสมบูรณ์แบบ เป็นสากล จำเป็นต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทุกๆ คนอย่ากลัว ในการที่จะแสดงออกว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด หรือไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด นี่คือเรื่องปกติ อย่าให้ความผิดปกติของการที่รัฐบาลทหารครองอำนาจมาอย่างยาวนานกดทับเรา จนเราไม่กล้าที่จะใช้เสรีภาพ" นายปิยบุตร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :