ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดา วสันต์ เสตสิทธิ์ และสุวิชชา พิทังกร 2 อดีตนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน พร้อมด้วยทนายความจาก ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย จำนวน 2 ล้านบาท ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศิลปากร และกรุงเทพมหานคร หลังจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกกรณีเข้าร่วมการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 พร้อมขอให้สื่อสารต่อสาธารณะว่า "เข้าใจแล้วว่า เจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาได้กระทำเกินขอบเขต และจะกำชับมิให้กระทำในลักษณะละเมิดสิทธิ เสรีภาพประชาชน" นอกจากนี้ยังขอให้ลบประวัติอาชญากรทั้งหมดของโจทก์ทั้งสองที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้
โดยศาลนัดวันชี้สองสถาน (การที่ศาลพิจารณาคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยหากมีข้อใดที่ฝ่ายโจทก์อ้างแล้วจำเลยไม่ยอมรับ ศาลจะกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท และกำหนดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำพยานหลักฐานมาสืบ) วันที่ 14 มิ.ย. 2564 เวลา 9.00 น. ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก
กรณีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 - 20 ก.ย. 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมในชื่อ "19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และต่อมาหลังจากยุติการชุมนุมแล้ว สถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการกองโบราณคดี และสุรเดช อำนวยสาร ผู้อำนวยการเขตพระนคร ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ให้ดำเนินคดีกับพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก ในข้อหาร่วมกันทำให้เสียทรัพย์
นอกจากนี้ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.โชคอำนวย ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
ต่อมา พ.ต.ท.โชคอำนวย ในฐานะพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทั้งสองคดีได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว ให้มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 3 พ.ย. 2563 โดยวสันต์และสุวิชชาเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกเรียกตามหมายเรียกด้วย โดยที่ทั้งวสันต์และสุวิชชา ไม่ได้เดินทางมากรุงเทพมหานครในช่วงเวลาที่มีการจัดการชุมนุมแต่อย่างใด ในวันที่มีการชุมนุม วสันต์ได้ทำงานอยู่ที่ห้องอาหารสุนีย์ จังหวัดอุบลราชธานี และสุวิชชาได้ปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดอุดรธานี
ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุว่า การกระทำของเจ้าพนักงานภายใต้สังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ พ.ต.อ. วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร ในฐานะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ย่อมมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่จะสามารถตรวจสอบได้ถึงพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ต้องรวบรวมให้เพียงพอ ก่อนที่จะแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเกี่ยวกับความผิดอาญาที่เกิดขึ้นในท้องที่รับผิดชอบของตน แต่กลับไม่ตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อนออกหมายเรียกโจทก์ทั้งสอง ทำให้ทั้งสองได้รับความเสียหาย
และพ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนมีอำนาจและหน้าที่ในการรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆอันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา โดยในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีมีหน้าที่ตามกฎหมาย เมื่อได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ต้องดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐานและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาและต้องตรวจสอบว่าผู้ถูกกล่าวหาแต่ละรายเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่อย่างไรให้ครบถ้วนเสียก่อน ก่อนที่จะออกหมายเรียกผู้ต้องหาต่อไป แต่กลับไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ ทำการแจ้งข้อกล่าวหาแก่วสันต์ โดยมีเพียงเอกสารภาพถ่ายประกอบคดีเป็นภาพกลุ่มบุคคลกำลังยืนอยู่บริเวณแนวรั้วเหล็กสีเขียวและภาพบุคคลใส่เสื้อยืดสีดำแขนสั้นสวมหมวกผ้าสีดำปีกกว้างไม่เห็นใบหน้าซึ่งไม่ใช่วสันต์มาประกอบการแจ้งข้อกล่าวหา
ในส่วนของสุวิชชาซึ่งถูกออกหมายเรียกผู้ต้องหาและได้เข้าพบพนักงานสอบสวนกลับไม่ถูกแจ้งพฤติการณ์การกระทำความผิด และไม่แจ้งข้อกล่าวหาให้ทราบ กับทั้งไม่ยอมดำเนินการเพิกถอนหมายเรียกผู้ต้องหาของสุวิชชา ทั้งสองข้อหา ทั้งพนักงานสอบสวนยังมีพฤติกรรมหน่วงรั้งสุวิชชาไว้ โดยไม่ดำเนินการทางกฎหมาย
อีกทั้งการกระทำของสถาพร เที่ยงธรรม เจ้าหน้าที่ในสังกัดของกรมศิลปากร และสุรเดช อำนวยสาร เจ้าหน้าที่ในสังกัดของกรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อโจทก์ทั้งสองโดยผิดกฏหมาย เพื่อจะแกล้งให้โจทก์ทั้งสองต้องรับโทษ โดยก่อนที่จะแจ้งความกล่าวโทษบุคคลใด จะต้องตรวจสอบพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงให้ถูกต้องและครบถ้วนเสียก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลใด หรือเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วสันต์และสุวิชชา ซึ่งเป็นประชาชนชาวไทย มีสิทธิ เสรีภาพ ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไมย กฏหมายภายใน และกติการะหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี จึงเข้ายื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมศิลปากร และกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ที่กระทำความผิด ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) เป็นจำนวนเงินคนละ 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท เนื่องจากทำให้ทั้งสองได้รับความเสียหายทั้งต่อชื่อเสียง เกียรติยศ กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ ทั้งร่างกายและจิดใจ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
เรียบเรียงจาก: ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษชน