ไม่พบผลการค้นหา
อย. ตรวจสอบพบการโฆษณาขายยาต้านไวรัส HIV เข้าข่ายเป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เตือนอย่าหลงเชื่อซื้อยามากินเองเพราะเป็นยาควบคุมต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ยาต้านไวรัส HIV ทางเฟซบุ๊กจึงได้เร่งตรวจสอบพบผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อชื่อ Mamieo Ritz (https://www.facebook.com/mamieoritz.rfc) https://www.getmyprep.com และhttps://www.pulse-clinic.com/prep-pulse 

พบการขายยาต้านไวรั สHIV พร้อมระบุข้อความ “ยาต้านไวรัสHIV พร้อมส่งค่ะ” ขายผ่านทางเฟซบุ๊กหลายครั้งซึ่งภาพที่ปรากฏเป็นยาต้านไวรัส HIV จริงซึ่งเป็นยาที่มีทะเบียนและเป็นยาควบคุมพิเศษการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการโฆษณาแสดงสรรพคุณยาควบคุมพิเศษและโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอย. ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการกับผู้กระทำความผิด 

อย. ขอเตือนไปยังผู้ป่วยโรค HIV อย่าหลงเชื่อซื้อยาดังกล่าวมารับประทานเองโดยเด็ดขาดยาประเภทนี้จัดเป็นยาควบคุมพิเศษต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับขนาดของยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย 

โดยยาต้านเชื้อไวรัส HIV มีผลทำให้จำนวนเชื้อไวรัสลดลงเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาวมากขึ้นทำให้โอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคฉวยโอกาสลดลงและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติซึ่งปัจจุบันยังไม่มียาที่ทำให้หายขาดได้ผู้ป่วยต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องซึ่งบางรายรับประทานยาไปแล้วมีอาการดีขึ้นหยุดยาเอง  ทั้งๆที่ยังไม่หายทำให้เกิดปัญหาการดื้อยาในภายหลังได้ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นที่มีราคาสูงทั้งยังพบอาการอันไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงจากยาตัวอื่นที่พบได้บ่อยกว่าหรือมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงกว่าเดิม

ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯอย. กล่าวในตอนท้ายว่าผลิตภัณฑ์ยาไม่ใช่สินค้าทั่วไปไม่อนุญาตให้มีการขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์และหากต้องการโฆษณาขายยาต้องได้รับอนุญาตก่อนซึ่งกฎหมายยังกำหนด ไว้ชัดเจนว่าห้ามโฆษณาขายยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษการขายยาควบคุมพิเศษต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ซึ่งการกระทำผิดจากการขายยามีด้วยกันหลายกรณีเช่นขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาทเป็นต้น

ทั้งนี้วัตถุประสงค์ของการขายยาในสถานประกอบการที่ได้รับการอนุญาตเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจึงต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำร้านในการซักถามประวัติการแพ้ยาจากคนไข้ยาถือว่ามีทั้งคุณและโทษไม่ควรซื้อยาออนไลน์หรือทางเว็บไซต์ต่างๆเพราะจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นยาจริงหรือยาปลอมได้มาตรฐานหรือมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงไรหรืออาจได้รับผลข้างเคียงจากยาจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้