สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ออกแถลงการณ์ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาของรัฐบาลไทย ซึ่งเกิดขึ้นเพียงสิบวันหลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางการไทยจับกุมและเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาไปแล้ว 2 คน
ผู้ลี้ภัย 2 คนแรกที่ถูกส่งกลับ คือ Veourn Veasna และ Voeung Samnang เป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและเป็นสมาชิก Cambodia National Rescue Party ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชน ศาลสูงของกัมพูชาสั่งยุบพรรคในปีพ.ศ. 2560
ทั้งสองคนลี้ภัยมายังประเทศไทยหลังจากถูกรัฐบาลกัมพูชาแจ้งจับข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการโพสต์ออนไลน์ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พวกเขาถูกทางการกัมพูชาตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น รวมทั้งข้อหาอาญาร้ายแรง พวกเขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 8 พ.ย. โดยถูกนำตัวไปยังศูนย์กักกันตรวจคนเข้าเมืองในกรุงเทพฯ และถูกทางการไทยเนรเทศไปยังกัมพูชาในวันที่ 9 พ.ย.
Thavry Lanh เป็นผู้ลี้ภัยคนที่สามถูกจับกุมเมื่อวันที่ 19 พ.ย. เมื่อทราบข่าวการถูกจับกุม UNHCR ได้แจ้งทางการไทยเกี่ยวกับสถานะผู้ลี้ภัยของบุคคลนั้นทันที และเรียกร้องให้รัฐบาลไม่ส่งบุคคลดังกล่าวกลับไปยังกัมพูชาเนื่องจากความกังวลต่อความปลอดภัยของผู้ลี้ภัย แต่ทางการไทยก็ควบคุมตัวผู้ลี้ภัยไว้ในสถานกักขังที่อรัญประเทศ และส่งตัวกลับกัมพูชาในวันรุ่งขึ้น
รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
กิลเลียน ทริกส์ ผู้ช่วยฝ่ายการคุ้มครองของUNHCR กล่าว่า การกระทำนี้ขัดต่อหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งบังคับให้รัฐต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ต้องไม่ขับไล่หรือส่งคนกลับไปยังดินแดนที่ชีวิตหรือเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม
“เรารู้สึกเป็นกังวลอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่ทำการเนรเทศผู้ลี้ภัยที่ได้รับสถานะแล้ว และปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ”
ก่อนหน้านี้ UNHCR เคยออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลไทยที่เนรเทศผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาสองคนออกจากประเทศ แม้จะได้แจ้งรัฐบาลเกี่ยวกับสถานภาพผู้ลี้ภัย และความกลัวที่จะถูกประหัตประหารหากเดินทางกลับกัมพูชาแล้วก็ตาม
ทางการไทยและกัมพูชา: “เราปฏิบัติตามขั้นตอนปกติ”
สำนักข่าวต่างประเทศเอพีรายงานว่า ทางการกัมพูชาและไทยอ้างว่าพวกเขาปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายและการควบคุมชายแดนตามปกติ
พล.ต.ต.อาชยน ไกรทองโ ฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนไม่สามารถยืนยันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคำอธิบายของสหประชาชาติได้ และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่จะต้องเนรเทศผู้ที่เดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย
โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติของกัมพูชาบอกกับสำนักข่าวเอพีว่า ขณะนี้ทั้งสามคนถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี หลังจากถูกเนรเทศกลับมาโดยทางการไทย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับกัมพูชา ประเทศไทยและกัมพูชามีข้อตกลงร่วมกันเรื่องการส่ง ‘ผู้ร้าย’ ข้ามพรมแดน
หลายฝ่ายกังวลมาโดยตลอดว่า พันธมิตรเผด็จการที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) นำโดยฮุน เซน จะเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทั้งสองประเทศในการปราบปรามผู้ที่เห็นต่าง และถูกใช้จัดการกับผู้ลี้ภัย ซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของนักการเมือง นักเคลื่อนไหว และผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เพื่อปราบปรามความขัดแย้งและรวบรวมอำนาจในประเทศของตน
ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุในแถลงการณ์คัดค้านการเนรเทศผู้ลี้ภัยของทางการไทยว่า
“เชื่อว่านักเคลื่อนไหวทางการเมือง 'เสื้อแดง' ของไทยหลายสิบคนยังคงหลบซ่อนตัวอยู่ในกัมพูชาภายหลังการรัฐประหารในปี 2557 ในขณะที่นักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชาหลายสิบคนได้ลี้ภัยในประเทศไทยหลังจากการปราบปรามฝ่ายค้านของรัฐบาลกัมพูชา”
ที่มา:
https://apnews.com/article/united-nations-thailand-cambodia-0706b2597a0c69eb1f7b1ee0d00516eb
https://thediplomat.com/2018/03/whats-in-the-thailand-cambodia-foreign-fugitive-deal/