ไม่พบผลการค้นหา
ภารกิจครั้งประวัติศาสตร์ ‘อาร์ทีมีส วัน’ ของสหรัฐฯ เริ่มปล่อยยานอวกาศออกนอกโลกไปแล้วเมื่อช่วงเช้ามืดของวันนี้ (16 พ.ย.) หลังจากการเตรียมความพร้อมมาหลายเดือนขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรืองค์กรนาซาของสหรัฐฯ โดยภารกิจในครั้งนี้ เป็นการส่งยานอวกาศไร้นักบินโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อปูทางไปสู่การส่งนักบินอวกาศของนาซากลับไปเดินบนผืนดวงจันทร์อีกครั้งในรอบครึ่งศตวรรษ

ระบบปล่อยอวกาศที่สูงตระหง่านกว่า 98 เมตร หรือ เอสแอลเอส ได้จุดไฟเครื่องยนต์ขึ้นเมื่อเวลา 01:47 น. ตัวยาวอวกาศได้ปล่อยแรงขับมากถึง 4.1 ล้านกิโลกรัม เพื่อดึงตัวเองออกจากแท่นยิงจรวดในมลรัฐฟลอริดา และเหินขึ้นไปในอากาศ พุ่งไปทั่วท้องฟ้ายามค่ำคืน พร้อมกับภาพแสงไฟและควันอันมีชีวิตชีวา

บนตัวจรวดมียานอวกาศ ‘โอไรออน’ ซึ่งเป็นแคปซูลที่แตกตัวออกจากจรวด หลังจากมันเดินทางไปถึงอวกาศ ทั้งนี้ ยานโอไรออนถูกออกแบบมาเพื่อบรรทุกมนุษย์ แต่ผู้โดยสารสำหรับภารกิจทดสอบในครั้งนี้ อาศัยสิ่งของที่ไม่มีชีวิตหลากหลายรูปแบบ รวมถึงหุ่นบางตัวที่รวบรวมข้อมูลสำคัญ เพื่อช่วยนักบินอวกาศที่มีชีวิตในอนาคตที่จะถูกส่งออกไปนอกโลก

จรวดเอสเอลเอสใช้เชื้อเพลิงหลายล้านกิโลกรัม ก่อนที่ชิ้นส่วนของจรวดจะเริ่มแตกออก โดยตอนนี้ ยานโอไรออนได้ทะยานผ่านวงโคจรด้วยเครื่องยนต์ขนาดใหญ่เพียงเครื่องเดียว ทั้งนี้ เครื่องยนต์ดังกล่าวได้ปล่อยการเผาไหม้อันทรงพลัง 2 ครั้งใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้ยานอวกาศอยู่ในวิถีที่ถูกต้องและมุ่งหน้าไปยังดวงจันทร์ จากนั้น ประมาณ 2 ชั่วโมงหลังจากปล่อยยาน เครื่องยนต์จรวดจะหลุดออก และยานโอไรออนจะถูกปล่อยให้บินอย่างอิสระตลอดการเดินทางที่เหลือ

องค์การนาซาคาดว่า ยานโอไรออนจะบันทึกระยะทางประมาณ 2 ล้านกิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางที่มันไปได้ไกลกว่ายานอวกาศอื่นๆ ที่ออกแบบมาสำหรับการบินของมนุษย์ โดยหลังจากโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว ยานโอไรออนจะเดินทางกลับโลกโดยใช้เวลาประมาณ 25.5 วัน และมันมีกำหนดการตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิกนอกชายฝั่งซานดิเอโกในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ โดยทีมกู้ซากยานจะรออยู่ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อดึงยานแคปซูลออกมาอย่างปลอดภัย

ตลอดภารกิจนี้ วิศวกรของนาซาจะคอยจับตาดูประสิทธิภาพของยานอวกาศอย่างใกล้ชิด ทีมงานจะประเมินว่า ยานโอไรออนดำเนินการตามที่ตั้งใจหรือไม่ และมันพร้อมที่จะถูกใช้เพื่อสนับสนุนภารกิจนักบินอวกาศครั้งแรกในวงโคจรดวงจันทร์ ซึ่งขณะนี้กำหนดไว้ในปี 2567 หรือไม่

ภารกิจนี้ยังถือเป็นการเริ่มต้นการบินครั้งแรกของจรวดเอสเอลเอส ในฐานะจรวดที่ทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยมีมาในวงโคจรของโลก โดยมันมีแรงขับมากกว่าจรวดซาเทิร์น ไฟฟ์ ถึง 15% ซึ่งเคยถูกใช้ขับเคลื่อนการลงจอดบนดวงจันทร์ในศตวรรษที่ 20 ของนาซา

ภารกิจอาร์ทีมีส วัน เป็นเพียงภารกิจแรกในภารกิจชุดอาร์ทิมิส ที่จะมีความยากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากนาซามุ่งสู่เป้าหมายในการจัดตั้งฐานอวกาศถาวรบนดวงจันทร์ โดยโครงการอาร์ทีมีส ทรี จะเดินตามเส้นทางเดียวกับ อาร์ทีมีส วัน แต่จะมีนักบินอวกาศอยู่บนยานของโครงการอาร์ทีมีส ทรี ซึ่งมีกำหนดการดำเนินการในทศวรรษนี้ และคาดว่าจะมีการส่งนักบินอวกาศหญิงและคนผิวสีไปบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นครั้งแรกด้วย


ที่มา:

https://edition.cnn.com/2022/11/16/world/artemis-1-launch-nasa-scn/index.html?fbclid=IwAR2TUumwskMZuiXpJVqKbiMrGqEUtSZrPD7uZLoGQZ2kUijv3Z-4Q9zjU-E