'นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์' อธิบดีกรมการแพทย์ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับทีมข่าว 'Voice Online' ว่าจากการสำรวจเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการระบาดในระยะที่ 3 พบว่าตอนนี้ทั่วประเทศไทยมีเตียงพร้อมรองรับผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ประมาณกว่า 5,000-6,000 เตียง ซึ่งในจำนวนนี้ครอบคลุมเตียงทั้ง 3 ประเภทใหญ่ คือ 1. ห้องความดันลบ ทั้งเต็มรูปแบบและแบบประยุกต์ 2.ห้องแยกเดี่ยว 3. หอผู้ป่วยรวมแยกโรค หรือ Cohort ward ซึ่งรับคนไข้ที่เป็นผู้ป่วยยืนยันแล้ว แต่อาการไม่หนัก ปอดไม่อักเสบ และสามารถอยู่รวมกันเป็นวอร์ดสามัญได้ โดยที่เตียงต้องห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และมีระบบระบายอากาศที่ดี ซึ่งเตียงทั้งหมดนี้กระจายอยู่ในโรงพยาบาลหัวเมืองใหญ่และต่างจังหวัดประมาณ 5,000 เตียง
ขณะที่ในกรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนของภาครัฐก็มีการพูดคุยกับคณะแพทยศาสตร์ทุกคณะในกรุงเทพฯ โรงพยาบาลสังกัด กทม. ไปจนถึงโรงพยาบาลในสังกัดตำรวจและทหาร เพื่อการประมาณการและเตรียมการ เชื่อว่าจะพอรองรับผู้ป่วยในกรุงเทพฯ ได้มากพอสมควร
นอกจากนี้ อธิบดีกรมการแพทย์ยังเผยว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลเอาไว้ 4 มุมเมือง หากเกิดกรณีมีผู้ป่วยจำนวนมากแบบในอิตาลี โดยเป็นเตียงแบบ Cohort ward สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 โดยเฉพาะ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อแต่อาการไม่หนักมาก ซึ่งโรงพยาบาลทั้ง 4 มุมเมืองของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 200-300 เตียง ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก (ศาลายา) ประมาณ 100 เตียง โรงพยาบาลบางขุนเทียน ประมาณ 200 เตียง และโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) อีกประมาณหลักร้อยเตียง
อย่างไรก็ตาม 'นพ.สมศักดิ์' ยอมรับว่าอาจมีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องของบุคลากร เนื่องจากโรงพยาบาลเหล่านี้เป็นโรงพยาบาลที่ใช้งานตามปกติ อาจยังไม่มีแพทย์ด้านโรคติดเชื้อเข้าไปประจำ ซึ่งตรงนี้อาจมีปัญหาเล็กน้อย
เล็งอบรมแพทย์สาขาอื่นช่วย หากจำนวนผู้ป่วยล้น
ปกติแพทย์ที่อยู่แนวหน้าในการดูแลผู้ป่วยไวรัสโควิด-19 คือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด ระบบทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อและเวชบำบัดวิกฤต ซึ่งอธิบดีกรมการแพทย์เผยว่า จำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเหล่านี้น่าจะมีอยู่ประมาณหลักร้อย นี่ทำให้มีการวางแนวทางรับมือว่าหากเกิดสถานการณ์จำเป็นที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากเกินความสามารถแพทย์เฉพาะทางเหล่านี้ ก็จะต้องมีการอบรมแพทย์สาขาอื่น เช่น แพทย์ด้านอายุรศาสตร์ เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยติดเชื้อแต่อาการไม่รุนแรง ปอดไม่อักเสบและสามารถพักอยู่ใน Cohort ward ในโรงพยาบาล 4 มุมเมืองที่เตรียมเอาไว้
ส่วนแพทย์โรคติดเชื้อ โรคปอด หรือเวชกรรมวิกฤต ก็จะต้องถูกระดมมาดูแลผู้ป่วยรายที่อาการหนัก แต่จากตัวเลขที่พบในจีนทำให้ไม่กังวลมากนัก เพราะเคสผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นเคสที่อาการไม่หนัก กรณีที่ต้องดูแลแบบภาวะวิกฤตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งเป็นตัวเลขเลวร้ายที่สุด นั่นคือถ้ามีผู้ป่วย 1,000 ราย เคสที่อาการวิกฤตจะมีอยู่ประมาณ 100 ราย
อธิบดีกรมการแพทย์ระบุว่า ถ้าสถานการณ์ระบาดเป็นแบบอิตาลี ก็มองว่าจำนวนเตียงที่มีอยู่ทั่วประเทศราว 6,000 เตียง จะยังพอรองรับผู้ป่วยได้ ยกเว้นแต่ว่าสถานการณ์ไปถึงจุดที่จำนวนผู้ป่วยเยอะมากจริงๆ ก็อาจต้องใช้วิธีให้คนไข้ที่ยืนยันพบเชื้อแต่ไม่มีอาการอะไรเลยกักตัวเองที่บ้าน แต่ก็ย้ำหนักแน่นว่านั่นจะเป็นแผนสุดท้ายจริงๆ และก็ไม่ต้องการให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น
ป้องกันโรงพยาบาลไม่ให้กลายเป็นแหล่งกระจายเชื้อคือมาตรการสำคัญ
นอกจากการสำรวจความพร้อมเรื่องเตียงที่จะรองรับผู้ป่วย อธิบดีกรมการแพทย์ระบุว่า อีกมาตรการหลักที่สำคัญของสถานพยาบาลต่างๆ คือการพยายามลดการเกิดผู้ป่วยใหม่ในโรงพยาบาลเอง ด้วยการมีคลินิกไข้หวัดในการคัดกรอง ไม่ให้คนไข้ที่มีอาการหรือประวัติเสี่ยงไปปะปนกับคนไข้ทั่วไปของโรงพยาบาล ไปจนถึงมาตรการลดจำนวนคนไข้ในโรงพยาบาล เช่น กรณีของผู้ป่วยเรื้อรัง อย่างเบาหวานหรือความดัน ที่ไม่มีปัญหาอะไร ก็จะยืดเวลาการมารับยาที่โรงพยาบาลให้นานขึ้น จาก 1 เดือนเป็น 3 เดือน เป็นต้น เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินทางมายังโรงพยาบาลบ่อยๆ เป็นการลดความเสี่ยงและควบคุมไม่ให้โรงพยาบาลกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อ
(ภาพปก: โรงพยาบาลในเมืองอู่ฮั่นของจีน)