สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวความคืบหน้า สปสช.ดำเนินคดี 18 คลินิกทุจริตเงินบัตรทอง พร้อมขยายผลตรวจสอบ พบอีก 63 แห่งข้อมูลไม่ถูกต้อง
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาฯ สปสช. กล่าวว่า จากกรณีที่ สปสช.ตรวจพบการทุจริตการเบิกจ่ายเงินค่าบริการคัดกรองโรคในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของคลินิกเอกชน 18 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สปสช.ขอแถลงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับคลินิกเอกชนที่ทุจริตการเบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือกองทุนบัตรทอง พร้อมความคืบหน้าหลังจาก สปสช.ได้ขยายผลตรวจสอบหน่วยบริการในการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มของโรคเมตาบอลิกเพิ่มเติมอีก 86 แห่ง
ทั้งนี้ ในส่วนความคืบหน้าการดำเนินการกรณีคลินิกเอกชน 18 แห่ง ทุจริตเงินบัตรทองนั้น สปสช.ได้ดำเนินการดังนี้
1.ระงับจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ของหน่วยบริการทั้ง 18 แห่ง
2.เรียกคืนเงินตามจำนวนที่ตรวจสอบพบว่าการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่ไม่ถูกต้อง โดยเป็นยอดเรียกคืนทั้งสิ้น 74,397,720 บาท ขณะนี้เรียกคืนแล้ว 60,773,809 บาท คงเหลือยอดค้างชำระรอเรียกคืน ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2563 จำนวน 13,623,911 บาท
3.แจ้งความตามคดีอาญา พร้อมส่งมอบเอกสารหลักฐานเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 63
4.วันที่ 7 ก.ค. 2563 สปสช. ส่งเรื่องให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, แพทยสภา และอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพอื่นด้วยหรือไม่ เพื่อดำเนินการเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพแล้ว
5.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2563 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 18 คลินิกทุจริต
6.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการประจำทั้ง 18 แห่ง และประกาศยกเลิกการเป็นหน่วยบริการ วันที่ 9 ก.ค. 2563 โดย สปสช.จัดระบบให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองกว่า 2 แสนรายใน 18 คลินิกเอกชนใน กทม. ได้รับการดูแลแบบไร้รอยต่อ ซึ่งจะได้รับการย้ายหน่วยบริการอัตโนมัติ ผู้ป่วยส่งต่อในระหว่างนี้ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
7.ขอความร่วมมือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมส่งทีมสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
8.เสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข
9. วันที่ 14 ก.ค. 2563 คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณี 18 คลินิกทุจริตประชุมนัดแรก
"หลัง สปสช.เขต 13 กทม.ตรวจพบข้อมูลการเบิกจ่ายของคลินิก 18 แห่ง ไม่น่าเชื่อถือ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน สปสช.จึงขยายผลการตรวจสอบหน่วยบริการที่มีการเบิกจ่ายค่าบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มของโรคเมตาบอลิกเพิ่มเติมอีก 86 แห่ง ขณะนี้พบข้อมูลไม่ถูกต้อง 63 แห่ง เป็นจำนวนเงินที่ต้องเรียกคืนประมาณ 2.4 ล้านบาท แต่หลังจากแจ้งผลการตรวจสอบให้หน่วยบริการรับทราบ มีหน่วยบริการ 11 แห่งขออุทธรณ์ผลการตรวจสอบ อีก 52 แห่งไม่อุทธรณ์ ซึ่ง สปสช.ต้องดำเนินการขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป" เลขาธิการ สปสช.กล่าว
เลขาฯ สปสช. กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่ตรวจพบ คือไม่มีเอกสารหลักฐานของประชาชนที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง ขณะนี้ สปสช.เร่งดำเนินการตามกฎหมายและดำเนินคดี โดยในวันนี้ (16 ก.ค.) คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร หรือ อปสข.กทม. จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ เพื่อการเรียกเงินคืน
"ขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม.ได้ขยายผลการตรวจสอบหน่วยบริการทั้ง 63 แห่ง ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีการตรวจในวันที่ 30 ก.ค.-11 ส.ค. 2563 เป็นการตรวจสอบ ณ หน่วยบริการ และวันที่ 16 ก.ค. นำเสนอ อปสข.พิจารณาดำเนินการต่อไป" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ด้าน นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาฯ สปสช. กล่าวว่า ผลการตรวจสอบข้อมูลการจ่ายชดเชยค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหน่วยบริการเพิ่มอีก 86 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน 20 แห่ง และคลินิกเอกชน 66 แห่งนั้น พบข้อมูลไม่ถูกต้อง 63 แห่ง เป็นจำนวนเงินที่ต้องเรียกคืน 2,473,600 บาท แต่เมื่อแจ้งผลการตรวจสอบให้หน่วยบริการรับทราบ มีหน่วยบริการ 11 แห่งขออุทธรณ์ผลการตรวจสอบ อีก 52 แห่งไม่อุทธรณ์
นพ.การุณย์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ตรวจพบคือ ไม่มีเอกสารหลักฐานของประชาชนที่เข้ารับการตรวจคัดกรอง การตรวจพบดังกล่าวเป็นการตรวจพบเบื้องต้นจากการสุ่มตรวจ ยังไม่ได้ตรวจทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้ สปสช.เขต 13 กทม. เตรียมขยายผลการตรวจสอบหน่วยบริการทั้ง 63 แห่ง ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะมีการตรวจในวันที่ 30 ก.ค.-11 ส.ค. 2563 เป็นการตรวจสอบ ณ หน่วยบริการ
โดยมีการเรียกเงินคืน พร้อมกับนำเสนอคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร หรือ อปสข.กทม.ครั้งที่ 3/2563 วันที่ 16 ก.ค. 2563 พิจารณาการดำเนินการ ขยายการตรวจสอบไปยังรายการเบิกจ่ายตามรายการ (fee schedule) ทุกรายการ ในทุกหน่วยบริการทุกระดับ ระงับการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการทั้งหมดที่พึงได้รับของทั้ง 52 หน่วยบริการ ในปีงบประมาณ 2563 จนกว่าผลการตรวจสอบ จะเสร็จสิ้น, ให้ สปสช.เรียกคืนเงินจากทุกหน่วยบริการตามจำนวนที่ตรวจสอบพบว่าการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ไม่ถูกต้อง พร้อมเสนอคณะอนุกรรมการพิจารณาหักค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง